วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

We Should All Be Feminists by Chimamanda Ngozi Adichie

 


Title : We Should All Be Feminists
Author : Chimamanda Ngozi Adichie
Genre : Non-Fiction / Essay
Published : 2014

รีวิว :

หนังสือเล่มนี้มีความยาวแค่ 40 กว่าหน้า ผู้เขียนอธิบายถึงความหมายของคำว่า Feminism ที่คนสมัยนี้เข้าใจผิดว่า พวกเธอเกลียดผู้ชาย แท้ที่จริงแล้ว เธอไม่ได้เกลียด และมีความสุขดี ที่เธออยากแต่งตัวสวย ใส่มินิสเกิร์ต ทาลิปกลอส นั่นเป็นเพราะเธอชอบ ไม่ได้ทำเพื่อดึงดูดผู้ชาย หรือเพื่อให้ใครมาชอบ 

ผู้เขียนเกิดและเติบโตที่ประเทศไนจีเรีย เธอเห็นการกระทำที่ไม่เสมอภาคระหว่างชายหญิงมาตั้งแต่เด็ก ครูที่โรงเรียนไม่ให้เธอทำหน้าที่สำคัญเพราะเธอเป็นผู้หญิง แม้ว่าเธอจะสอบได้คะแนนที่ดีที่สุด และเด็กผู้ชายที่ได้คะแนนรองจากเธอจะไม่ได้อยากทำหน้าที่นี้เลยก็ตาม เมื่อเธอโตขึ้น การเลือกปฏิบัตินี้ก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น เธอเคยไปพบคนในโรงแรมแห่งหนึ่ง ธอถูกซักถามอย่างละเอียด เพราะพวกเขากลัวว่าเธอจะมาขายบริการทางเพศ ในขณะที่ผู้ชายกลับไม่โดนเช่นเธอ เธอไม่เข้าใจว่า เหตุใดเขาถึงไม่โฟกัสว่า หากไม่มี demand ก็คงไม่มี supply

ผู้เขียนยังเล่าเรื่อง เพื่อนชาวอเมริกันของเธอว่า เพื่อนคนนี้ทำงานได้ดีเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่เธอกลับได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่า หรือเพื่อนอีกคนที่ทำงานเข้มงวด เหมือนหัวหน้างานชายคนก่อน แต่เพื่อนร่วมงานกลับบอกว่า รับไม่ได้ที่จะทำงานร่วมกับเธอ ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า คนเรามักยอมรับหากการกระทำเช่นนี้ เกิดจากผู้ชาย และผู้หญิงควรจะมีความอ่อนหวานมากกว่านี้

เคยมีคนเตือนผู้เขียนว่า งานเขียนของเธอเต็มไปด้วยความโกรธ เธอยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง 
เพราะเรื่องเพศในสมัยนี้ สื่อให้เห็นถึงความอยุติธรรมอันน่าอดสู เธอโกรธ และทุกคนก็ควรจะโกรธเช่นเธอ และเธอหวังว่า ด้วยความสามารถของมนุษย์นี้จะทำให้อะไรๆดีขึ้นได้

ผู้เขียนเล่าว่า เธอเคยพูดเรื่อง Feminism แต่คู่สนทนาไม่ว่าจะชายหรือหญิง กลับเลี่ยงไม่อยากคุยเรื่องนี้ เธอคิดว่าผู้หญิงเราควรได้ทำในสิ่งที่เราอยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่สังคม หรือวัฒนธรรมคาดหวังว่าเราควรจะเป็น

ผู้เขียนเล่าถึงคุณทวดของเธอว่าเป็น Feminist เช่นเดียวกัน คุณทวดหนีจากงานแต่งงาน และไปแต่งกับผู้ชายที่คุณทวดเลือกเอง เธอทั้งปฏิเสธ ต่อต้าน และลุกขึ้นพูด เมื่อเธอถูกยึดทรัพย์เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง ในตอนนั้น คุณทวดไม่รู้จักคำว่า Feminist ด้วยซ้ำ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอจะไม่ใช่ และคำนิยามของ Feminist ของผู้เขียน คือ ใครก็ตาม ไม่ว่าชายหรือหญิง ที่ยอมรับว่า  ทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องเพศเกิดขึ้นจริงๆ และเราควรจะต้องแก้ไข และทำให้มันดีขึ้น

All of us, women and men, must do better.

ภาษา : ศัพท์ไม่ยาก อ่านได้เรื่อยๆ แปบเดียวจบ

ความรู้สึกหลังอ่าน : บอกเลยว่า เราเป็นคนนึงที่ไม่ได้สนใจเรื่อง Feminism เลยซักนิด พอมีใครพูดเรื่องนี้ขึ้นมาจะนึกถึงเพลงของ ปาน ธนพร ตลอดเลย 555+ รู้สึกว่ามัน sexism ยังไงไม่รู้ แต่สำหรับหนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาว่า ทำไมเราควรถึงใส่ใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะมันมีความลำเอียง อคติอยู่ในสังคมจริงๆ ทั้งที่จริงเราควรจะทำอะไรก็ได้ที่เราอยากทำ (โดยที่ไม่เดือดร้อนใคร) แต่บางทีก็อาจถูกบรรทัดฐานของสังคมปรามไว้ว่า เฮ้ย เธอเป็นผู้หญิง ทำแบบนั้นไม่ได้นะ ต้องเรียบร้อย ห้ามนั่งอ้าขา หรือ คุณเป็นผู้ชายควรจะเข้มแข็ง ห้ามแสดงความอ่อนแอออกมานะ พอลองมานั่งคิดดูแล้ว ก็จริงอย่างที่ผู้เขียนเขาว่า เราควรจะต้องเริ่มทำอะไรสักอย่างกับเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ควรจะเปิดใจมากขึ้น ดูที่ความสามารถหรือปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เรื่องเพศ หรือฐานะทางสังคม ถ้าทุกคนทำได้ โลกคงจะน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมเยอะ ;)

คะแนน : 4/5

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น