เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังเชื่อตามคำสอนในสมัยเด็กกันอยู่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ผู้เขียนเองก็เข้าใจผิดเช่นนั้นมาตลอด จนกระทั่งได้สืบค้นข้อมูล และพิจารณาจากข้อมูลสินค้าส่งออกของกระทรวงการคลังย้อนหลัง พบว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอันดับต้นๆ โดยที่ไม่มีสินค้าเกษตรติดใน 10 อันดับของสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าให้แก่ประเทศเลยแม้แต่รายการเดียว หรือหากจะพิจารณาจาก GDP ในภาคเกษตรกรรม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2503 มีสัดส่วนร้อยละ 33.41 ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 14.47 แต่ในปี พ.ศ. 2559 สัดส่วนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ของ GDP ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.9 ของ GDP ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลักแล้ว
แรกเริ่มนั้น ประเทศไทยในปี พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นปีที่สนธิสัญญาเบาว์ริงสิ้นสุดลง ทำให้ประเทศไทยมีอิสระทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายมากขึ้น ประเทศไทยจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยในช่วงแรกเป็นการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาก็เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าของการผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากกว่าผลิตผลทางการเกษตรเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งถือว่า ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้วนับแต่นั้นเป็นต้นมา
อิทธิพลของสังคมอุตสาหกรรมจากประเทศทางตะวันตกต่อประเทศไทยนั้น ถูกถ่ายทอดผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบของมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ แต่เดิมประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าหัตถกรรม และแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่ายๆในลักษณะพึ่งพาตนเอง แต่หลังจากมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอุตสาหกรรมซึ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามากำหนดมาตรฐานให้กับการผลิตสินค้า ทำให้สินค้ามีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับแล้ว มาตรฐานเหล่านี้ส่งผลต่อการกำหนดกรอบแนวทางการผลิตของไทยให้ต้องมีมาตรฐานตามไปด้วย เช่น ข้าวเปลือกต้องมีปริมาณความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือไข่ไก่ต้องมีขนาด น้ำหนักตามที่กำหนด เป็นต้น
อย่างไรก็ดี การผลิตให้ได้มาตรฐานนั้น จำต้องมีแรงงานที่มีความชำนาญ และมีคุณภาพด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีแรงงานจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน พื้นฐานเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นที่ดึงดูดต่อนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ
อีกวัฒนธรรมหนึ่งของสังคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยคือ วัฒนธรรมความพร้อมเพรียงของสังคมอุตสาหกรรม ในอดีตที่ประเทศไทยยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม วิถีชีวิตของผู้คนดำเนินไปพร้อมกับธรรมชาติ การงานต่างๆขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ หากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือเกิดอุทกภัยขึ้น พืชผลที่สู้อุตส่าห์เฝ้าดูแลมาเป็นอันต้องเสียหาย และไม่สามารถแก้ไขสิ่งใดได้ ทำได้เพียงพยายามบรรเทาภาวะความไม่แน่นอนของธรรมชาติ โดยการเลี่ยงไปปลูกพืชผลชนิดอื่นให้เหมาะสมกับฤดูกาล ดังนั้น วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมจึงมีแต่ความไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ เมื่อลัทธิอุตสาหกรรมตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย หลังจากปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา วิถีชีวิตของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการทำการเกษตรลดลง และเกษตรกรส่วนใหญ่ย้ายเข้าสู่ภาคการจ้างงานและอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมีเวลาในการทำงานที่แน่นอน มีระบบระเบียบ และสร้างประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากมาย
นอกจากนี้ ในสังคมอุตสาหกรรม ยังมีวัฒนธรรมในลักษณะของค่านิยมที่ทำให้ผู้คนหลงใหลได้ปลื้มในความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ในภาคธุรกิจอีกด้วย เช่น การสร้างตึกที่สูงที่สุด การมีรถไฟที่เร็วที่สุด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้หันมาพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรมจึงได้รับค่านิยมไปด้วย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายบริหารของประเทศ และจากภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ สถิติต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศว่า มีความเจริญเติบโตในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ จึงถูกรัฐบาลผลักดัน และหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียง เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชน เพราะยิ่งมีค่าเพิ่มสูงขึ้นเท่าใด ก็มีผลเท่ากับว่ารัฐบาลบริหารประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ค่านิยมเช่นนี้ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และประเทศที่กำลังยกระดับตัวเองเป็นประเทศอุตสหากรรม ซึ่งอาจมีผลให้ปัญหาด้านลบถูกละเลยไป เช่น ปัญหาด้านมลพิษ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ เป็นต้น ดังนั้น จากวัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศที่พึ่งพิงการเกษตรกรรมเป็นสำคัญ จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น จึงมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ คือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และในส่วนของโทษ กล่าวคือ หากประเทศไทยรับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาเสียหมด จนลืมบริบทของสังคมไทยเอง ก็อาจเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศตนที่มีมาแต่เดิมได้
นอกจากปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลอย่างวัฒนธรรมของประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆแล้ว ปัจจัยภายในเองก็มีส่วนกระตุ้นให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ นโยบายของรัฐบาลและส่วนราชการไทยได้ให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2497 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกัน และชักจูงให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการอุตสาหกรรมในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเหตุที่มีขั้นตอนการอนุมัติที่ค่อนข้างยุ่งยาก และสถานะของประเทศไทยโดยรวมในช่วงเวลานั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจในหลายๆด้าน
การดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาลในช่วง 10 ปีแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 – 2512 นั้น เน้นกลยุทธ์การทดแทนการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยมีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าที่ก่อนหน้านั้นมีการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศ และต่อมาจึงได้มีการจัดทำ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ฉบับแรกขึ้น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าบางประเภทเริ่มมีการชะลอตัวลง และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การทดแทนการนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราของประเทศเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผลก่อให้เกิดการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรมใกล้กรุงเทพมหานคร หรือในเมืองสำคัญๆ เนื่องจากโรงงานมักตั้งอยู่ในแหล่งที่ใกล้ตลาด และในเขตที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แต่การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลก นับวันยิ่งมีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดแรงงานกับประเทศต่างๆที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าของไทย เช่น เวียตนาม จีน เป็นต้น อนึ่ง แม้ภาคอุตสาหกรรมจะค่อยๆก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย จนกลายมาเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมากต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) ก็ตาม แต่ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยก็ชะลอตัวตามไปด้วย
ประเทศไทยได้ผ่านช่วงเวลาที่มีการดำเนินนโยบายมุ่งเน้นงานด้านอุตสาหกรรมหนัก หรือที่เรียกว่า ยุคประเทศไทย 3.0 มาแล้ว เช่น การผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมน เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันกลับเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 3 – 4 ต่อปีเท่านั้น จนกระทั่ง ประเทศได้ดำเนินเข้าสู่ยุคที่อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนน้อยแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องจากสภาพต้นทุนที่มีราคาสูง ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ใช้นวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้
รูปภาพจาก https://www.bangkokpost.com/business/1276579/boi-%E2%80%93-true-partner-of-the-thai-industry
นโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดต่อเนื่องมาจากแนวการพัฒนากระบวนการผลิตในโครงการ Industry 4.0 ของประเทศเยอรมนี โดยมีความพยายามที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นภาคบริการให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นประเทศรับจ้างผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ในภาคการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย โดยข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกปี 2561 และสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
เมื่อพิจารณาพัฒนาการของรูปแบบทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะถูกขับเคลื่อนโดยอาศัยโครงสร้างการผลิต และพื้นฐานในการประกอบอาชีพของคนในสังคมไทย โดยในระยะแรกเริ่มต้นจากยุคที่เน้นเกษตรกรรม ซึ่งผลิตเพื่อยังชีพ ด้วยเหตุผลทางสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศจึงมาจากเกษตรกรรมเป็นหลัก และพัฒนาต่อมาสู่ยุคของอุตสาหกรรมเบา ที่มีการนำทรัพยากรธรรมชาติ มาแปรรูปกันมากขึ้น มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เช่น การทอผ้า การทำอาหารกระป๋อง การทำยาและการทำเครื่องเวชภัณฑ์ การทำอลูมิเนียม การผลิตเครื่องวิทยุ เป็นต้น และต่อมาจึงเคลื่อนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก อันเกิดจากกระแสของโลกาภิวัฒน์ ที่มีคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากคนไทยยังขาดความเป็นเจ้าของ และยึดติดอยู่กับตัวเลขส่งออก ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงยกนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่ต้องใช้นวัตกรรมต่างๆมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น ในตอนนี้ เราจึงได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทยส่วนหใญ่มักเป็นการร่วมทุนจากระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น บริษัทซัมซุง หรือแอลจีจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนที่เป็นของคนไทยจริงๆ ยังมีน้อยมาก และมักเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง หรือขนาดย่อม หรือไม่ก็เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่เป็นรายใหญ่ในด้านเกษตรอุตสาหกรรมของไทย หรือบริษัทเครือเอสซีจีที่เน้นเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกระดาษ และบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งอาจมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น เงินทุน เนื่องจากในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตาม จะมีต้นทุนที่ราคาสูงมาก ทั้งในด้านการวิจัย เทคโนโลยีที่ใช้ เครื่องจักรทันสมัย รวมถึงบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาควบคุมการทำงาน จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสร้างผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา หรือเมื่อมีการสร้างขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว การหาตลาดเพื่อระบายสินค้า และความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด อาจมีความเสี่ยงสูงที่บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลกได้ ผู้เขียนเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งในด้านให้คำปรึกษา การจัดหาแหล่งเงินทุน และตลาด ดังจะเห็นตัวอย่างได้จาก แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน ที่มีแม่แบบมาจากโครงการ Industry 4.0 เช่นกัน โดยแผนยุทธศาสตร์นี้ เป็นความพยายามของจีนที่จะอาศัยเทคโนโลยีไฮเทคด้านอุตสาหกรรม มายกระดับเศรษฐกิจจีน ให้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าชาติหนึ่งของโลก ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรม นโยบายอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นการท้าทายฐานะผู้นำของบริษัทในประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแม้ว่าประเทศจีนจะถูกร้องเรียนเรื่องการให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย ประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การศึกษา คุณภาพแรงงาน ก็อาจไม่มีทางได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้เลย
ในแง่ของประเทศไทยนั้น แม้จะได้รับสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country, NIC) แต่ผู้เขียนกลับมองว่า ประเทศไทยยังแค่ “รับจ้างทำอุตสาหกรรม” เพื่อให้มีตำแหน่งงานป้อนแก่คนในประเทศ ดังนั้น ในทัศนะของผู้เขียนจึงเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่อาจเรียกตัวเองว่า ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้เต็มปากเท่าใดนัก
ข้อมูลอ้างอิง
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๐ / เรื่องที่ ๒ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ / ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศยุคอุตสาหกรรมใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=20&chap=2&page=t20-2-infodetail04.html
Thailand 4.0 คืออะไร – ไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร. (2560). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.it24hrs.com/2017/thailand-4-0/
รู้จักกับ Thailand 4.0 แบบเข้าใจง่าย อ่านรอบเดียว เล่าได้เป็นช่องเป็นฉาก!!!!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://thaiembdc.org/th/2016/12/29/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-thailand-4-0-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%87%E0%B9%88/
ประเทศอุตสาหกรรมใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88
เหตุผล4ข้อ‘ทุนต่างชาติ’ โยกโรงงานไปเพื่อนบ้าน. (2558). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thansettakij.com/content/4474
*บทความนี้เราเขียนส่งอาจารย์สมัยเรียน ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น