หลัก Constructive Notice มีที่มาจากหลัก Doctrine of Notice ซึ่งเป็นหลักการเกี่ยวกับการรู้ข้อเท็จจริง โดยหลัก Constructive Notice นี้มักถูกเรียกว่า เรื่องสมมติทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า บุคคลได้รับ
การบอกกล่าวแล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้รู้หรือไม่ก็ตาม การบอกกล่าวนี้ ไม่จําเป็นที่บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับการบอกกล่าวโดยเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ข้อมูลนั้นมีอยู่และสามารถเข้าถึงได้โดยบุคคลทั่วไป เท่านี้ก็เป็นไปตามหลัก Constructive Notice ที่สันนิษฐานว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับทราบข้อมูลแล้ว
ในระบบกฎหมาย Common Law บุคคลภายนอกที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทจะถูกถือว่าได้รับทราบเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ซึ่งหลักการนี้รู้จักกันในชื่อ Constructive Notice นั่นเอง และยังเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ทั่วไปในเรื่องตัวแทนซึ่งนํามาใช้กับบริษัท กล่าวคือ เมื่ออํานาจของตัวแทนถูกจํากัดโดยหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท บุคคลภายนอกที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทจะถูกตีความว่า ได้อ่านและเข้าใจเอกสาร และตระหนักถึงความไม่มีอํานาจของตัวแทนแล้ว บุคคลภายนอกไม่อาจเรียกให้บริษัทรับผิด แม้ว่าการเป็นตัวแทนจะตรงกันข้ามกับการดําเนินธุรกิจของบริษัทก็ตาม หลักกฎหมายนี้ ยังนําไปใช้กับกรณีที่บริษัทกระทําการนอกขอบวัตถุประสงค์ที่ได้แสดงไว้ในข้อบังคับของบริษัทด้วย และหลักกฎหมายนี้
ยังสอดคล้องกับพฤติการณ์ในกฎหมายตัวแทนด้วย กล่าวคือ บุคคลภายนอกทราบว่า ตัวแทนกระทําการ
เกินขอบอํานาจ ดังนั้น จึงไม่ผูกพันผู้เป็นตัวการ
หลัก Constructive Notice นี้ มีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้น จากการที่กรรมการ
ใช้อํานาจเกินกว่าที่กําหนดไว้ (Ultra Vires) และหลักกฎหมายนี้ เป็นที่ยอมรับกันในสภาสูงของอังกฤษซึ่งเห็นได้ชัดในคดี Ernest v Nicholls โดย Lord Wensleydale กล่าวว่า “ข้อกําหนดเงื่อนไขการกระทําซึ่งจํากัด และควบคุมอํานาจของกรรมการ มีผลบังคับใช้แก่ผู้ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท และกรรมการไม่สามารถทําสัญญาใด ๆ เพื่อให้มีผลเป็นการผูกพันผู้ถือหุ้น เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดอย่างเคร่งครัด”
ในแง่ของกฎหมายบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของทุกบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และเนื่องจากสํานักทะเบียนนี้เป็นหน่วยงานราชการจึงมีผลให้หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวกลายเป็นเอกสารมหาชนซึ่งเปิดเผย และสามารถเข้าถึงได้แก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลใด ๆ ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทที่จะต้องตรวจสอบเอกสารมหาชนเหล่านั้น เพื่อทําให้มั่นใจว่า สัญญาของบุคคลนั้นสอดคล้องกับข้อกําหนดต่าง ๆ ของบริษัท แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้อ่านเอกสารนั้นหรือไม่ก็ตาม เขาก็จะอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับเมื่อเขาอ่านแล้ว กล่าวคือ บุคคล
จะถูกสันนิษฐานว่า ได้รับทราบเนื้อหาในเอกสารมหาชนดังกล่าวนั้นแล้ว
หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท เป็นเอกสารที่สําคัญที่สุด และจําเป็นสําหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยหนังสือบริคณห์สนธิจะระบุถึงวัตถุประสงค์ของบริษัท ขอบเขตการดําเนินงาน และสิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฎในเอกสารดังกล่าว ถือว่านอกเหนือวัตถุประสงค์ที่บริษัทจะสามารถกระทําได้ ส่วนข้อบังคับ
ของบริษัทเป็นกฎระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมและบริหารกิจการภายใน และการดําเนินธุรกิจของบริษัท
เมื่อหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทกลายเป็นเอกสารมหาชนแล้ว และ สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทั่วไป ดังนั้น การรับรู้ถึงเนื้อหาในเอกสารดักล่าว จะอยู่ทั้งในความรับรู้ของบุคคลภายใน และภายนอกบริษัทด้วย
หลักการนี้ ทําให้บริษัทอาศัยข้อจํากัดความรับผิดที่ได้เปิดเผยไว้ในข้อบังคับ หรือ เอกสารมหาชนอื่น ๆ ขึ้นยันบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น สัญญาที่ทํากับบุคคลภายนอกจะไม่ผูกพันบริษัท หากข้อบังคับได้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่อ้างว่ากระทําแทนบริษัทไม่มีอํานาจ
หลัก Constructive Notice อาจนิยามได้ว่าเป็นข้อกฎหมายที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกสันนิษฐานว่ามีความรู้เกี่ยวกับบางสิ่ง เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในเอกสารมหาชน หรือ เป็นข้อมูลสาธารณะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลไม่อาจปฏิเสธความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น ๆ ได้ เพราะเขามีหน้าที่ต้องตรวจสอบ
อยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หากบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทําสัญญาซื้อที่ดิน บุคคลนั้นจะถูกสันนิษฐานว่า
ได้ทราบสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้นแล้ว เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลในสารบบความได้ หรือในกรณี พบสัญลักษณ์ ® ที่ปรากฎอยู่ในเครื่องหมายการค้า หรือบริการนั้น ก็พึงคาดหมายให้ทุกคนเข้าใจว่า ชื่อ หรือ เครื่องหมายดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้แล้ว และบุคคลอื่นใดไม่สามารถนําไปใช้ได้
ผลอีกประการหนึ่งของหลัก Constructive Notice คือ บุคคลใด ๆ ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ไม่เพียงแต่จะถูกสันนิษฐานว่าได้อ่านเอกสารนั้น ๆ แล้วเท่านั้น แต่ยังถือว่าได้ทําความเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ตามความหมายที่เหมาะสมแล้วด้วย นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวยังจะถูกสันนิษฐานอีกว่า ได้เข้าใจอํานาจ
ของบริษัท กรรมการ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ด้วย และยิ่งไปกว่านั้น หลัก Constructive Notice ยังบังคับใช้รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น มติพิเศษ ค่าใช้จ่ายเฉพาะ ซึ่งจําเป็นต้องใช้ในการจดทะเบียนกับสํานักทะเบียน เป็นต้น แต่หลักการนี้ไม่นําไปใช้กับเอกสารที่ยื่นเพื่อประโยชน์ในการบันทึกข้อมูล เช่น เอกสารเกี่ยวกับเงินได้และบัญชีของบริษัท เป็นต้น ดังนั้น หลักการนี้ จึงนํามาใช้เฉพาะกับเอกสารที่มีผลต่ออํานาจ
ของบริษัทเท่านั้น หลัก Constructive Notice ที่กําหนดให้บุคคลที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทได้รับทราบถึงเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ถูกนํามาใช้เป็นบรรทัดฐานในคดี Central Merchant Bank Ltd v Oranje Benefit Society กล่าวคือ
“ตามหลักการนี้ เป็นหลักที่ยอมรับว่า บุคคลใดก็ตามที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ถือว่าได้ทํา
ความเข้าใจเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ซึ่งรวมถึงหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับของบริษัท และมติพิเศษ ตั้งแต่เมื่อเอกสารเหล่านี้ได้ยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบ เช่น บริษัทจะไม่รับผิดในสัญญาที่บุคคลภายนอกได้รับทราบ หรือควรจะได้รับทราบการจํากัดอํานาจ หรือความสามารถของบริษัท หรือกรรมการ”
อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ทําให้บุคคลภายนอกเข้าทําสัญญาโดยการหลอกลวงว่า กรรมการ หรือผู้กระทําการแทนมีอํานาจกระทําได้ ไม่อาจอาศัยความคุ้มครองตามหลัก Constructive Notice โดยอ้างว่ากรรมการไม่มีอํานาจกระทําการดังกล่าว และบุคคลภายนอก ได้ทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ก่อนแล้วได้
ในกฎหมายหุ้นส่วน - บริษัทของไทยก็มีการนําหลัก Constructive Notice มาใช้เช่นกัน
ดังปรากฎในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 -1023/1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนจํากัด และบริษัท กล่าวคือ
มาตรา 1021 บัญญัติว่า “นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียน ส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ ตามแบบซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะได้กําหนดให้”
เมื่อมีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือมีการแก้ไขข้อความที่จดทะเบียนในภายหลัง กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนต้องแต่งย่อรายการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงตามแบบพิมพ์
ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กําหนดไว้ไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเป็นคราวๆ ซึ่งการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบว่ามีนิติบุคคลเกิดขึ้น
มีวัตถุประสงค์กว้างหรือแคบเพียงใด อํานาจหน้าที่ของผู้จัดการมีประการใดบ้าง หรือข้อจํากัดความรับผิดใดหรือไม่
มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า เมื่อคําขอจดทะเบียนถูกต้องครบถ้วนแล้วนายทะเบียนจะดําเนินการแต่งย่อรายการของห้างหุ้นส่วนนั้น เพื่อส่งไปตีพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น วันที่ห้างหุ้นส่วนซึ่งได้จดทะเบียนมีสภาพเป็นนิติบุคคลนั้น ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นวันที่
นายทะเบียนได้จดทะเบียนให้เป็นสําคัญ อย่างไรก็ดี การที่จะยกข้อความที่จดทะเบียนขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้หรือไม่ จะต้องไปพิจารณามาตรา 1023 กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 เดิม ก่อนที่จะมีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า
“ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เพราะเหตุที่มีสัญญา หรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าวแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่า นั้นได้
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชําระหนี้ก่อนโฆษณานั้นย่อมไม่จําต้องคืน”
ดังนั้น ตามกฎหมายเดิม บริษัทจะยกสัญญา เอกสาร หรือข้อความที่จดทะเบียนขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ข้อความที่จดทะเบียนมีว่า
“ก. เป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด” ก่อนลงพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้างหุ้นส่วนจํากัดดําเนินธุรกิจผิดพลาด ก่อให้เกิดหนี้จํานวนมาก และไม่มีเงินเพียงพอชําระหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ ก.ชําระหนี้รายนี้ได้ เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดก่อนนําข้อความดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ว่า ก. จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด และจํานวนหนี้มากกว่าที่ ก. รับลงหุ้นไว้ก็ตาม ก. ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ แต่ตามมาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายอนุญาตให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท สามรถถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกได้เร็วขึ้น คือเพียงจดทะเบียนข้อความ เอกสาร หรือสัญญาต่อนายทะเบียนเท่านั้น ก็สามารยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้แล้ว ไม่จําต้องรอลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาอย่างเช่นกฎหมายเก่า ซึ่งในส่วนนี้จะได้กล่าวต่อไป
มาตรา 1022 บัญญัติว่า “เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดังนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความ ซึ่งลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้น หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง”
จากบทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวมีผลทําให้รายการต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนไว้ เช่น ตาม มาตรา 1064(6) เรื่องข้อจํากัดอํานาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือมาตรา 1078 รายการที่ต้องลงทะเบียนในห้างหุ้นส่วนจํากัด เป็นต้น เมื่อนายทะเบียนนําไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายถือว่าทุกคนได้รับทราบข้อมูลเหล่านั้นแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะได้เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กฎหมายปิดปากมิให้ผู้ใดปฏิเสธว่า ไม่รู้ข้อความที่จดทะเบียน และได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับหลัก Constructive Notice ที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
เหตุที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เพราะเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้ว บุคคลที่รู้ก็จะอ้างว่าตนไม่รู้ เมื่อเห็นว่าตนต้องเสียเปรียบในนิติสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าเหตุใด
ตนจึงไม่รู้ และอาจต้องมีการสืบพยานกันจนหาที่สุดไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายจึงกําหนดให้เป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดซึ่งไม่ยอมให้มีการสืบพยานหักล้างได้
ในศาลไทยเองก็ได้มีการวางหลักนี้ไว้ในคําพิพากษาเช่นกัน โดยศาลเห็นว่าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1022 เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดคู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานไม่ต้องนําสืบ
ตามข้อความที่ได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวง
- คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928 – 1930/2528 การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัท และอํานาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามมาตรา 1021 และ 1022 จําเลย
ให้การแต่เพียงว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และ บ. จะเป็นผู้มีอํานาจกระทาการแทนตามฟ้องหรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรองคําให้การของจําเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมาย จึงไม่เป็น ประเด็นที่โจทก์ต้องนาสืบ
- คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2541 การเป็นนิติบุคคลและอํานาจของผู้แทนนิติบุคคล
นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและ
ถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021 และ 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่า จําเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด มีจําเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 อันนํามาใช้บังคับโดยอนุโลม
แก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจําเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัดจําเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่
ของจําเลยที่ 2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบถึงความไม่บริสุทธิ์ หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
เมื่อพยานหลักฐานที่จําเลยที่ 2 นําสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จําเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจําเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วโจทก์ย่อมขอให้จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจําเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยไม่ต้องคํานึงว่าหนี้สินของจําเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจําเลยที่ 2 หรือไม่ และไม่ต้องคํานึงด้วยว่ากรณีของจําเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจําเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อจําเลยที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้ จําเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จํากัดจํานวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077
หากเป็นกรณีที่ข้อความ หรือเอกสารของบริษัทยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 ที่แก้ไขในใหม่ปี พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า
“ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้
แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชําระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จําต้องคืน”
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่ อนุญาตให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทสามารถยกขึ้นอ้างซึ่งข้อความ เอกสาร หรือสัญญายันกับบุคคลภายนอกได้ตั้งแต่จดทะเบียน โดยไม่จําต้องรอจนกว่าจะมีการลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ยกตัวอย่างเช่น ก. เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 และจะได้โฆษณาข้อความที่จดทะเบียนในราชกิจจานุกเบกษาในวันที่ 1 มีนาคม 2561 ต่อมาได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อปลด ก. ออกจากตําแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้ง ข. เป็นกรรมการแทน และได้มีการยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสําเร็จ
ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 ปรากฎว่าในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ก. (กรรมการเดิม) ได้เข้าทําสัญญาในนามบริษัท กับ ค. ดังนี้ ค. ย่อมถูกกฎหมายสันนิษฐานว่า รู้อยู่แล้ว่าตนได้เข้าทําสัญญากับผู้ไม่มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท เนื่องจากได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการแล้ว อีกทั้ง ยังมีผลให้บริษัทสามาถยกเอาข้อความที่ได้จดทะเบียนดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความผูกพันตาม สัญญาที่ ก. ทําไว้กับ ค. เพราะเหตุที่ ก. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทอีกต่อไป โดยไม่จําต้องรอให้มีการโฆษณาข้อความนั้นในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน
หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปว่า ยังไม่มีการนํามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปจดทะเบียน เปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ถ้าปรากฎว่า หลังจากนั้น ก. ได้เข้าทําสัญญานามบริษัทกับ ค. แล้ว บริษัทจะปฏิเสธสัญญา
โดยอ้างว่า ก. ไม่ใช่กรรมการไม่มีอํานาจทําสัญญาแทนบริษัทไม่ได้ เพราะข้อความที่ว่าได้เปลี่ยน ข.
เป็นกรรมการแทนนั้นยังไม่ได้มีการจดทะเบียน (บุคคลภายนอกยังไม่อาจทราบได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ)
ในแง่ของบุคคลภายนอกนั้น มาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กําหนดให้บุคคลภายนอกสามารถยกเอกสาร สัญญา หรือข้อความขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ก. ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ต่อมา ก. ได้มอบอํานาจให้ ข. ไปฟ้อง ค. ในนาม บริษัท ตามสัญญาซื้อขาย ดังนี้ ค. อาจอ้างได้ว่า ข. ไม่มีอํานาจฟ้อง เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้มีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการแล้ว ก. จึงไม่อาจมอบอํานาจให้ ข. ฟ้องคดีในนามบริษัทได้
- คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4949/2536 การที่ ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. มอบอํานาจ ให้ จ. ฟ้องจําเลย เป็นการกระทําภายหลังจาก ส. ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอํานาจของ โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจํากัดแล้วจึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับของโจทก์ตามหนังสือรับรองที่กําหนดให้กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนโจทก์ คือ ส. ช. และ จ. สองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราของบริษัทจึงจะกระทําการผูกพันโจทก์ การกระทําของจําเลย ส.จึงเป็นการกระทําที่ปราศจากอํานาจ จ. จึงไม่มีอํานาจฟ้องคดีแทนโจทก์ การลาออกของ ส. ยังไม่มีผลตามกฎหมายเพราะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่ความเกี่ยวพันกันในระหว่าง บริษัทโจทก์กับ ส. ผู้เป็นกรรมการนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กําหนดให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386 หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นําไปจดทะเบียนต่อสํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จําเลยถูกฟ้องในฐานะผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ มิใช่ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์ จึงนับว่าเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้
สําหรับความในวรรคสอง หากบุคคลภายนอกได้ชําระหนี้ตอบแทนห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท แก่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการ โดยที่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการนั้นได้ออกจากตําแหน่งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาข้อความดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา กรณีนี้ แม้ว่าผู้รับชําระหนี้จะไม่มีอํานาจรับชําระหนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากการที่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือ กรรมการได้รับชําระหนี้ไว้แทนห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เมื่อหนี้ตามสัญญานั้นมีอยู่จริง และ เจ้าหนี้ที่แท้จริงได้รับเงินนั้นแล้ว บุคคลภายนอกย่อมไม่อาจเรียกเงินที่ชําระไปแล้วนั้นคืนได้
มาตรา 1023/1 บัญญัติว่า “ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอํานาจ กระทําการมิได้” เมื่อพิจารณามาตรา 1023 และมาตรา 1023/1 ประกอบกันแล้ว พบว่าการแก้ไข มาตรา 1023 มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเดิม กล่าวคือ แต่เดิมนั้น แม้จะมีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียนแล้ว แต่บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนก็ยังมิอาจเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นได้ จนกว่าจะได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่นี้ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ดี สามารถถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกได้ตั้งแต่นําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นไปจดทะเบียนดังที่กล่าวมาแล้ว ในขณะที่มาตรา 1022 ให้ถือว่าบุคคลภายนอกรู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นต่อเมื่อได้ มีการลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงพออนุมานได้ว่า ในส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทสามารถเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอก ได้ 2 ขยัก กล่าวคือ นับตั้งแต่ได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียน กับหลังจากได้ลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่า หากผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทต้องการเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกนับตั้งแต่ได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียนนั้น มาตรา 1023/1 วางหลักให้สามารถทําได้ ถ้าบุคคลภายนอกนั้นไม่สุจริต กล่าวคือ ได้รู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความนับตั้งแต่ เวลาที่มีการจดทะเบียนแล้ว การจะพิสูจน์ถึงความรู้ของบุคคลย่อมเป็นการยาก และอาจต้องอาศัยพฤติการณ์แวดล้อมเพื่อพิจารณาถึงความรู้นั้นเป็นรายกรณีไป และหากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ หรือศาลเห็นว่าบุคคลภายนอกยังไม่ทราบถึงการจดทะเบียนนั้น ศาลก็จําต้องยกฟ้องของโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ยังไม่มีอํานาจฟ้อง อันเป็นการเสียเวลา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นโดยไม่จําเป็น ซึ่งก็อาจเกิดปัญหาตามมาอีกว่า การที่โจทก์นําคดีมาฟ้องนั้น จะถือว่า เป็นการที่บุคคลภายนอกได้รู้ถึงการจดทะเบียนแล้วหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า มาตรา 1023 มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลภายนอกจะรับรู้ถึงการจด ทะเบียนนับตั้งแต่เมื่อใด และแม้มาตรา 1023/1 จะหวนกลับมาคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็ตาม ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายได้สร้างมาตรา 1023/1 ขึ้นมาเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตนเองที่ร่างกฎหมายมาตรา 1023 ให้ขัดแย้งกับมาตรา 1022 กล่าวคือ กฎหมายอนุญาตให้ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกที่ได้รู้ถึงการจดทะเบียน ตั้งแต่นําสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะบียนนั้น ในขณะที่กฎหมายก็บัญญัติเช่นกันว่า บุคคลทั้งปวงได้รู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความดังกล่าวเมื่อลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด และอาจส่งผลให้โจทก์ต้องฟ้อง บุคคลภายนอกถึง 2 ครั้ง หากโจทก์ไม่อาจสืบสมได้ตามคําฟ้องของตน
หลัก Constructive Notice ยังมีใช้อยู่ในกฎหมายอินเดีย และไม่แตกต่างจากกฎหมายไทยเลย ภายใต้กฎหมายอินเดีย หลักการนี้ เป็นข้อสันนิษฐานว่า บุคคลภายนอกทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทสัญชาติอินเดีย จะถูกสันนิษฐานว่า รู้และเข้าใจเนื้อหา และความหมายที่เหมาะสมของเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว โดยไม่คํานึงว่าบุคคลภายนอกจะได้อ่านเอกสารมหาชนนั้นจริง ๆ หรือไม่ ตามมาตรา 610 แห่ง Companies Act 1956 วางหลักไว้ว่า หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัท เมื่อได้จดทะเบียนไว้กับสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้ว เอกสารดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารมหาชน และเปิดให้บุคคลที่จะเข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท เข้าตรวจสอบอํานาจของบริษัท และขอบเขตอํานาจที่ได้รับมอบหมายของผู้มีอํานาจกระทํา การแทน ดังนั้น บุคคลทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์หรือเข้าทําธุรกรรมใด ๆ กับบริษัทสัญชาติอินเดียจะถูกปฏิบัติอย่างคนที่ได้รับทราบ หรือกฎหมายถือว่าได้ทราบข้อมูลของเอกสาร มหาชนนั้นแล้ว
ในปัจจุบัน กฎหมายไทยยังมีความแตกต่างกับกฎหมายอินเดียเล็กน้อย เนื่องจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 1023 ในปี พ.ศ. 2551 ที่ให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้าง หุ้นส่วน หรือบริษัท สามารถเข้าถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกได้ตั้งแต่จดทะเบียนสัญญา หรือเอกสารนั้น ในขณะที่มาตรา 1022 ให้ถือว่าทุกคนได้รับทราบข้อมูล หรือเอกสารนั้น เมื่อได้ลงพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก่อให้ความลักลั่นของช่วงเวลา และอาจนํามาซึ่งความสับสนต่อไปได้ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอินเดียจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หลัก Constructive Notice ก็ยังทําให้ศาลอินเดียต้องเผชิญกับปัญหา และความยุ่งยากเช่นเดียวกับที่ไทยต้องเจอด้วยเหตุที่หลักนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้น นัก วิชการด้านกฎหมายของอินเดียจึงเห็นควรให้ทุกบริษัทกําหนดวัตถุประสงค์ของตนให้ชัดแจ้ง ใช้ภาษาที่ไม่คลุมเครือ และควรยกเลิกหลัก Constructive Notice แต่เพียงบางส่วน
หลัก Constructive Notice ในกฎหมายอังกฤษได้ถูกพัฒนา และทําให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยศาลอังกฤษ เพื่อคุ้มครองบริษัทต่อบุคคลภายนอกภายใต้กฎหมายอังกฤษ หลักนี้ ป็นกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ซึ่งประชาชนทั่วไปถูกสันนิษฐานว่า ได้รับทราบเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว
หลัก Constructive Notice ภายใต้กฎหมายอังกฤษได้สิ้นสุดลงไปแล้วในทางกฎหมาย ตั้งแต่เมื่อประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด บริษัทเป็นที่ยอมรับโดยสมาชิกของบริษัทนั้นเอง และโลกธุรกิจและการค้า การรู้จักบริษัทผ่านทางเอกสาร และข้อมูลสาธารณะในบันทึกของสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทนั้น เป็นเรื่องนามธรรม และไกลจากความเป็นจริงมาก นอกจากนี้ บริษัทจํากัดยังมีลักษณะเฉพาะเป็นของตน ยิ่งกว่าชื่อที่ระบุไว้ กรณีนี้เป็นผลมาจากมาตรา 9 ของ European Communities Act 1972 ซึ่งตอนนี้ได้รวมไว้ในมาตรา 711A ของ English Companies Act 1989
ตามกฎหมายของประเทศแอฟริกาใต้ หลัก Constructive Notice เป็นหนึ่งในรากฐานของกฎหมายบริษัท ซึ่งถือว่าบุคคลทุกคนจะถูกพิจารณาตามกฎหมายว่าได้รับทราบเนื้อหาที่ระบุไว้ในเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว กล่าวคือ เป็นเอกสารที่บริษัทได้ยื่นต่อสํานักทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ซึ่งประกอบด้วยหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับของบริษัท และมติพิเศษของที่ ประชุมผู้ถือหุ้น
โดยหลักการแล้ว ตามกฎหมายของประเทศแอฟริกาใต้เองก็มองว่า หลัก Constructive Notice นี้เป็นปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากหลักนี้มีลักษณะเป็นเรื่องสมมติทางกฎหมาย มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะบุคคลใดที่จะเข้ามาผูกนิติสัมพันธ์ กับบริษัทแทบจะไม่มีเวลา หรือความต้องการที่จะเรียกร้อง และกลั่นกรองเอกสารมหาชนของบริษัทนั้นเลย ดังนั้น ในมาตรา 17 ของ Close Corporations Act ของแอฟริกาใต้ จึงได้ยกเลิกหลัก Constructive Notice ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ Close Corporation
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ Company Act 2008 นั้นยังไม่ถึงขั้นยกเลิกหลัก Constructive Notice ในเรื่องที่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของบริษัทไปเสียทีเดียว แต่ยังคงหลักนี้ไว้ในรูปที่มีความเคร่งครัดน้อยลง กล่าวคือ Company Act 2008 กําหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทอาจระบุเงื่อนไขพิเศษ หรือข้อจํากัด หรือข้อกําหนดวิธีปฏิบัติซึ่งไม่สามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ เว้นแต่โดยกระบวนการพิเศษภายในบริษัทเท่านั้น หากหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทได้ระบุถึงข้อกําหนดนั้นไว้แล้ว กฎหมายกําหนดให้ชื่อของบริษัทจะลงท้ายด้วย อักษรย่อ “RF” (Ring-Fenced) และบุคคลทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์ของบริษัทจะถูกพิจารณาตามกฎหมายว่าได้รับทราบข้อจํากัดดังกล่าวแล้ว โดยไม่คํานึงว่าจะได้รับทราบจริง ๆ หรือไม่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเติมอักษรย่อ “RF” มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเตือนอย่างชัดแจ้งแก่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะเข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทว่าหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทได้ระบุข้อจํากัดบางอย่างไว้เช่น ข้อจํากัดเกี่ยวกับจํานวนเงินที่บริษัทสามารถกู้ยืมได้ หรือ ข้อจํากัดเกี่ยวกับอํานาจกระทําการแทนของกรรมการที่จะมีผลเป็นการผูกพันบริษัท หรือข้อห้าม ข้อจํากัดในการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลภายนอกจะถูกสันนิษฐานตามกฎหมายว่าได้รับทราบข้อจํากัด และไม่อาจกล่าวอ้างว่าถูกทําให้เข้าใจผิดว่า บริษัทมีอํานาจกู้ยืมเงินมากกว่าที่ระบุไว้ หรือกรรมการได้กระทํานอกเหนือขอบอํานาจ
เมื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของหลัก Constructive Notice ตามกฎหมายของแอฟริกาใต้พบว่า หลักนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากหลักการในเชิงลบ ในแง่การเอื้อประโยขน์แก่บริษัท ซึ่งขัดขวางไม่ให้บุคคลภายนอกยกเอาความไม่รู้ข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้บริษัท ไปสู่หลักการในเชิงบวก อันอาจเป็นผลลัพธ์จากความไม่ตั้งใจของผู้ร่างกฎหมาย กล่าวคือ หลักนี้อาจคุ้มครองบุคคลภายนอกที่เข้าทําธุรกิจกับบริษัท ไม่เฉพาะแต่ตัวบริษัทเองเท่านั้น
เมื่อพิจารณาจากฎหมายของต่างประเทศแล้ว พบว่ายังมีการใช้หลัก Constructive Notice กันอย่างแพร่หลาย แต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่เคร่งครัดมากนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่า ยังมีความจําเป็นที่จะต้องใช้หลักการนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างหลักเกณฑ์การรับรู้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ดี กฎหมายควรผ่อนคลายความเคร่งครัด และเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และถือตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 และ มาตรา 1023/1 นอกจากจะมีการแก้ไขให้ขัดแย้งกับหลัก Constructive Noticeในมาตรา 1022 แล้ว ยังเป็นการสร้างความไม่แน่นอนชัดเจนให้กับกฎหมายหุ้นส่วน - บริษัท ของไทยจึง สมควรได้รับการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง
หนังสืออ้างอิง
ศาสตราจารย์พิเศษ โศภณ รัตนากร. คําอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หุ้นส่วนและบริษัท. พิมพ์ครั ้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์นิติบรรณาการ. 2548
Doctrine of Constructive Notice and Doctrine of Indoor Management in Company Law. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.legalserviceindia.com/legal/article-136-doctrineof-constructive-notice-and-doctrine-of-indoor-management-in-company-law.html 14
Doctrine of constructive notice. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.lawteacher.net/free-law-essays/business-law/doctrine-of-constructivenotice-business-law-essay.php The Companies Act of 2008 has not completely abolished "constructive notice". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.roodtinc.com/archive/newsletter55.asp
Jean Murray. Constructive and Actual Notice in Civil Lawsuits Differences. (2018). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.thebalancesmb.com/constructive-notice-andactual-notice-in-civil-lawsuits-398193
*บทความนี้ เราเขียนส่งอาจารย์สมัยเรียน ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น