วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Indulgence หลงใหล เล่ม 1

 33859674


Title : Indulgence หลงใหล

Author : Ying Ye

Genre : Yaoi, Romance

 

เรื่องย่อ :

พวกเขารู้จักกันทางอินเทอร์เน็ตมาห้าปี เยี่ยจวินเยี่ยนกลับไม่เคยพบหน้าฝ่ายตรงข้ามแม้แต่ครั้งเดียว โลกอินเทอร์เน็ตนั้นเหมือนอยู่ใกล้แต่ความจริงแล้วแสนไกล เพราะเปิดอกคุยกันได้ทุกเรื่อง จึงยิ่งรู้สึกใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัว เยี่ยจวินเยี่ยนรู้สึกดีกับอาจิ่น เดิมทีนึกว่าหลังจากพบกันแล้ว ถ้าฝ่ายตรงข้ามตรงสเปกเขาละก็ พวกเขาอาจสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ให้ก้าวไปอีกขั้น ไม่เคยนึกเลยว่าจะต้องตะลึงงันตั้งแต่ครั้งแรกที่พบหน้า

 

รีวิว + สปอยล์ :

 

เยี่ยจวินเยี่ยน เป็นเพื่อนทางอินเตอร์เน็ตกับ “อาจิ่น” ซึ่งมีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกัน มาแล้วกว่า 5 ปี เขามักจะเล่าเรื่องของตนให้อาจิ่นฟัง ไม่ว่าจะเรื่องแฟน หรือการเปลี่ยนคู่นอน อาจิ่นเองก็ไม่เคยตัดสินจวินเยี่ยน และยินดีรับฟังเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นเสมอมา จนกระทั่งวันนึงที่จวินเยี่ยนเลิกกับแฟน เขาก็เกิดอยากจะเจออาจิ่นตัวเป็น ๆ ขึ้นมา แน่นอนว่าอาจิ่นก็ปฏิเสธเหมือนที่แล้ว ๆ มา แต่จวินเยี่ยนยังคงตื๊อ และยกเหตุผลมากมายมาโน้มน้าวใจ สุดท้ายอาจิ่นก็ยอมตกลงมาพบกันในที่สุด

 

การมาพบกันครั้งนี้ จวินเยี่ยนมีเจตนาแอบแฝง หวังว่าจะได้สานสัมพันธ์กับอาจิ่นในชีวิตจริง แต่เมื่ออาจิ่นปรากฎตัว เขาก็ต้องล้มเลิกความคิดนั้นไปเสีย เพราะแท้ที่จริงแล้วอาจิ่นเป็นเพียงแค่เด็กหนุ่ม ม.ปลาย ชื่อ จี้จิ่นเหอ แม้จวินเยี่ยนจะตกใจมากว่าที่ผ่านมาเขานำปัญหาชีวิตมาปรึกษาเด็กมัธยม แต่เขาทั้งคู่ก็ยังยืนยันที่จะคบกันต่อไปในฐานะเพื่อน

 

หลังจากจิ่นเหอเข้ามหาวิทยาลัย ทั้งสองคนก็มักจะใช้เวลาร่วมกันเมื่อมีโอกาส (ในฐานะเพื่อน) จนคืนหนึ่งที่จวินเยี่ยนดื่มเหล้าจนเมามาย เขานึกว่าคนที่นอนอยู่ข้างตนนั้น เป็นคู่นอนคนใดคนหนึ่ง และเริ่มเล้าโลมอีกฝ่าย แต่เมื่อได้สติ กลับพบว่าคน ๆ นั้นคือ จิ่นเหอ จวินเยี่ยนจึงต้องรีบขอโทษขอโพยเสียยกใหญ่ แล้วจากนั้นทั้งคู่ก็ทำเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น

 

จวินเยี่ยนรู้ตัวว่า ตัวเองชอบจิ่นเหอเข้าให้แล้ว แต่เขาก็ไม่สามารถยอมรับเรื่องอายุที่ห่างกันเกือบสิบปีได้ เพื่อจะตัดใจ เขาจึงนัดเด็กหนุ่มคนนึงที่น่าจะตรงสเปกของจิ่นเหอมาทานข้าวด้วยกัน ส่วนตัวเองก็จะแสร้งว่ามีธุระและปลีกตัวออกมา ให้ทั้งสองคนได้ทำความรู้จักกัน

 

จิ่นเหอรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมากที่จวินเยี่ยนทำอะไรโดยไม่บอกก่อน เขาจึงไปหาจวินเยี่ยนที่ห้องเพื่อพูดคุยให้รู้เรื่อง แต่กลับพบว่าจวินเยี่ยนกำลังมีอะไรกับคู่นอน จิ่นเหอโกรธมากที่ธุระของจวินเยี่ยนคือเรื่องแบบนี้ หลังจากที่คู่นอนของจวินเยี่ยนกลับไป ทั้งสองก็ทะเลาะกัน แล้วก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย

 

เจียงซือหย่วน ซึ่งเคยเป็นคู่นอนของจวินเยี่ยน และเป็นเพื่อนของจิ่นเหอ เกิดหายตัวไปในวันที่ต้องพรีเซ้นท์งานกลุ่ม จิ่นเหอจึงไปตามหาซือหย่วนที่บ้าน และได้รู้ความจริงว่า คู่นอนวันไนท์สแตนด์ของซือหย่วนฆ่าตัวตาย เพราะติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ จวินเยี่ยนก็เคยนอนกับคน ๆ นั้นด้วยเช่นกัน

 

จิ่นเหอรีบไปหาจวินเยี่ยนด้วยความเป็นห่วง และพบจวินเยี่ยนในสภาพที่แย่เอามาก ๆ เขาพยายามชวนให้จวินเยี่ยนไปตรวจที่โรงพยาบาล แต่จวินเยี่ยนปฏิเสธ เพราะจะตรวจด้วยตัวเอง ขอแค่จิ่นเหออยู่เป็นเพื่อนตัวเองก็พอ

 

หลังจากทราบผลตรวจว่าไม่ได้ติดโรค จวินเยี่ยนก็ปฏิบัติกับจิ่นเหอแปลกไป จนจิ่นเหอยังต้องเอ่ยปากถาม ซึ่งจวินเยี่ยนยอมรับตรง ๆ ว่า กำลังจีบจิ่นเหออยู่ ตั้งแต่มีเรื่องครั้งก่อน เขาก็คิดตกเรื่องอายุ แต่หากจิ่นเหอจะปฏิเสธก็ไม่เป็นไร จิ่นเหอเองก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจจวินเยี่ยน จึงตกลงคบกันในที่สุด

 

หลังจากคบกัน จิ่นเหอค่อย ๆ ยอมเปิดใจเล่าเรื่องครอบครัวของตัวเองให้จวินเยี่ยนฟัง เพราะเหตุที่เขาเป็นลูกเมียน้อย เขาจึงรู้สึกไม่สนิทใจที่จะกลับไปบ้านในช่วงปีใหม่สักเท่าไร จิ่นเหอเลยคิดว่าจะกลับแค่ไม่กี่วัน จวินเยี่ยนจึงชวนเขามาฉลองปีใหม่ด้วยกันกับครอบครัวฝั่งตน....

 

อ่านต่อเล่ม 2...

 

ความรู้สึกหลังอ่าน : อืมม..มันก็อ่านได้เรื่อย ๆ อะ ไม่รู้สึกพีคสักเท่าไหร่ เราคิดว่านักเขียนคงอยากให้พีคช่วงที่จวินเยี่ยนกังวลว่าจะติดโรค แต่เรากลับแอบสมน้ำหน้านางนิดนึง ก็เธออยากจะมั่วเองทำไมอ้ะ 55 ส่วนตัวเราชอบจิ่นเหอ น้องเป็นเด็กนิ่ง ๆ แต่ก็ขี้อาย คือดีย์  

                       ไม่รู้ว่าเล่มต่อไปนักเขียนจะขยี้เรื่องครอบครัวทั้งสองคนรึป่าว เพราะดูทรงแล้วไม่น่าจะมีประเด็นอะไรเด่น ๆ เลย 55

                       มีอีกเรื่องนึงที่เราไม่ค่อยแน่ใจ คือตกลงใครพระเอก นายเอกกันแน่อะ ตอนแรกก็คิดว่าจวินเยี่ยนเนี่ยแหละนายเอก ส่วนจิ่นเหอก็พระเอก แต่พออ่าน ๆ ไป อ้าว..ทำไมจิ่นเหอดูนุ่มนิ่มอย่างงี้อะ 55 แล้วแบบตอนที่นายเอกนอนกับคู่นอน นางก็สลับโพกับคู่นอนอีก ยิ่งฉาก NC คือแบบ โอ้วว จิ่นเหอตกใจที่ตัวเองจะได้เป็นฝ่ายรุก แต่จวินเยี่ยนเองก็บอกว่าจะไม่ตัดใจจากข้างหลังของจิ่นเหอเหมือนกัน OMG จะว่าไงดี เราไม่ชอบแบบสลับโพอะ แอบช็อคไปนิดนึง 555+

คะแนน : 3.5/5 (เล่มนี้อ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ได้จ้า เราซื้อมาถูกก็เลยใช้อ่านฆ่าเวลาเล่น ๆ - -)





หลัก Constructive Notice ในกฎหมายไทย

 

                หลัก Constructive Notice มีที่มาจากหลัก Doctrine of Notice ซึ่งเป็นหลักการเกี่ยวกับการรู้ข้อเท็จจริง โดยหลัก Constructive Notice นี้มักถูกเรียกว่า เรื่องสมมติทางกฎหมาย ซึ่งหมายความว่า บุคคลได้รับ
การบอกกล่าวแล้ว ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้รู้หรือไม่ก็ตาม การบอกกล่าวนี้ ไม่จําเป็นที่บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับการบอกกล่าวโดยเฉพาะเจาะจง เพียงแต่ข้อมูลนั้นมีอยู่และสามารถเข้าถึงได้โดยบุคคลทั่วไป เท่านี้ก็เป็นไปตามหลัก
Constructive Notice ที่สันนิษฐานว่า บุคคลนั้น ๆ ได้รับทราบข้อมูลแล้ว

     ในระบบกฎหมาย Common Law บุคคลภายนอกที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทจะถูกถือว่าได้รับทราบเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ซึ่งหลักการนี้รู้จักกันในชื่อ Constructive Notice นั่นเอง และยังเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ทั่วไปในเรื่องตัวแทนซึ่งนํามาใช้กับบริษัท กล่าวคือ เมื่ออํานาจของตัวแทนถูกจํากัดโดยหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัท บุคคลภายนอกที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทจะถูกตีความว่า ได้อ่านและเข้าใจเอกสาร และตระหนักถึงความไม่มีอํานาจของตัวแทนแล้ว บุคคลภายนอกไม่อาจเรียกให้บริษัทรับผิด แม้ว่าการเป็นตัวแทนจะตรงกันข้ามกับการดําเนินธุรกิจของบริษัทก็ตาม หลักกฎหมายนี้ ยังนําไปใช้กับกรณีที่บริษัทกระทําการนอกขอบวัตถุประสงค์ที่ได้แสดงไว้ในข้อบังคับของบริษัทด้วย และหลักกฎหมายนี้
ยังสอดคล้องกับพฤติการณ์ในกฎหมายตัวแทนด้วย กล่าวคือ บุคคลภายนอกทราบว่า ตัวแทนกระทําการ
เกินขอบอํานาจ ดังนั้น จึงไม่ผูกพันผู้เป็นตัวการ

     หลัก Constructive Notice นี้ มีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้น จากการที่กรรมการ
ใช้อํานาจเกินกว่าที่กําหนดไว้ (
Ultra Vires) และหลักกฎหมายนี้ เป็นที่ยอมรับกันในสภาสูงของอังกฤษซึ่งเห็นได้ชัดในคดี Ernest v Nicholls โดย Lord Wensleydale กล่าวว่า “ข้อกําหนดเงื่อนไขการกระทําซึ่งจํากัด และควบคุมอํานาจของกรรมการ มีผลบังคับใช้แก่ผู้ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท และกรรมการไม่สามารถทําสัญญาใด ๆ เพื่อให้มีผลเป็นการผูกพันผู้ถือหุ้น เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดอย่างเคร่งครัด”

    ในแง่ของกฎหมายบริษัท หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของทุกบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และเนื่องจากสํานักทะเบียนนี้เป็นหน่วยงานราชการจึงมีผลให้หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวกลายเป็นเอกสารมหาชนซึ่งเปิดเผย และสามารถเข้าถึงได้แก่ประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของบุคคลใด ๆ ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทที่จะต้องตรวจสอบเอกสารมหาชนเหล่านั้น เพื่อทําให้มั่นใจว่า สัญญาของบุคคลนั้นสอดคล้องกับข้อกําหนดต่าง ๆ ของบริษัท แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้อ่านเอกสารนั้นหรือไม่ก็ตาม เขาก็จะอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับเมื่อเขาอ่านแล้ว กล่าวคือ บุคคล
จะถูกสันนิษฐานว่า ได้รับทราบเนื้อหาในเอกสารมหาชนดังกล่าวนั้นแล้ว

     หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัท เป็นเอกสารที่สําคัญที่สุด และจําเป็นสําหรับการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยหนังสือบริคณห์สนธิจะระบุถึงวัตถุประสงค์ของบริษัท ขอบเขตการดําเนินงาน และสิ่งใดที่ไม่ได้ปรากฎในเอกสารดังกล่าว ถือว่านอกเหนือวัตถุประสงค์ที่บริษัทจะสามารถกระทําได้ ส่วนข้อบังคับ
ของบริษัทเป็นกฎระเบียบ หรือ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมและบริหารกิจการภายใน และการดําเนินธุรกิจของบริษัท

     เมื่อหนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับของบริษัทกลายเป็นเอกสารมหาชนแล้ว และ สามารถเข้าถึงได้โดยประชาชนทั่วไป ดังนั้น การรับรู้ถึงเนื้อหาในเอกสารดักล่าว จะอยู่ทั้งในความรับรู้ของบุคคลภายใน และภายนอกบริษัทด้วย

     หลักการนี้ ทําให้บริษัทอาศัยข้อจํากัดความรับผิดที่ได้เปิดเผยไว้ในข้อบังคับ หรือ เอกสารมหาชนอื่น ๆ ขึ้นยันบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น สัญญาที่ทํากับบุคคลภายนอกจะไม่ผูกพันบริษัท หากข้อบังคับได้แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่อ้างว่ากระทําแทนบริษัทไม่มีอํานาจ

     หลัก Constructive Notice อาจนิยามได้ว่าเป็นข้อกฎหมายที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งถูกสันนิษฐานว่ามีความรู้เกี่ยวกับบางสิ่ง เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในเอกสารมหาชน หรือ เป็นข้อมูลสาธารณะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ บุคคลไม่อาจปฏิเสธความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้น ๆ ได้ เพราะเขามีหน้าที่ต้องตรวจสอบ
อยู่ก่อนแล้ว ยกตัวอย่างเช่น หากบุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทําสัญญาซื้อที่ดิน บุคคลนั้นจะถูกสันนิษฐานว่า
ได้ทราบสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้นแล้ว เนื่องจากสามารถตรวจสอบข้อมูลในสารบบความได้ หรือในกรณี พบสัญลักษณ์
® ที่ปรากฎอยู่ในเครื่องหมายการค้า หรือบริการนั้น ก็พึงคาดหมายให้ทุกคนเข้าใจว่า ชื่อ หรือ เครื่องหมายดังกล่าวได้จดทะเบียนไว้แล้ว และบุคคลอื่นใดไม่สามารถนําไปใช้ได้

     ผลอีกประการหนึ่งของหลัก Constructive Notice คือ บุคคลใด ๆ ที่เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ไม่เพียงแต่จะถูกสันนิษฐานว่าได้อ่านเอกสารนั้น ๆ แล้วเท่านั้น แต่ยังถือว่าได้ทําความเข้าใจเนื้อหาต่าง ๆ ตามความหมายที่เหมาะสมแล้วด้วย นอกจากนี้ บุคคลดังกล่าวยังจะถูกสันนิษฐานอีกว่า ได้เข้าใจอํานาจ
ของบริษัท กรรมการ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ด้วย และยิ่งไปกว่านั้น หลัก
Constructive Notice ยังบังคับใช้รวมถึงเอกสารอื่น ๆ ทั้งหมด เช่น มติพิเศษ ค่าใช้จ่ายเฉพาะ ซึ่งจําเป็นต้องใช้ในการจดทะเบียนกับสํานักทะเบียน เป็นต้น แต่หลักการนี้ไม่นําไปใช้กับเอกสารที่ยื่นเพื่อประโยชน์ในการบันทึกข้อมูล เช่น เอกสารเกี่ยวกับเงินได้และบัญชีของบริษัท เป็นต้น ดังนั้น หลักการนี้ จึงนํามาใช้เฉพาะกับเอกสารที่มีผลต่ออํานาจ
ของบริษัทเท่านั้น หลัก
Constructive Notice ที่กําหนดให้บุคคลที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทได้รับทราบถึงเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ถูกนํามาใช้เป็นบรรทัดฐานในคดี Central Merchant Bank Ltd v Oranje Benefit Society กล่าวคือ

“ตามหลักการนี้ เป็นหลักที่ยอมรับว่า บุคคลใดก็ตามที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ถือว่าได้ทํา
ความเข้าใจเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว ซึ่งรวมถึงหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับของบริษัท และมติพิเศษ ตั้งแต่เมื่อเอกสารเหล่านี้ได้ยื่นต่อนายทะเบียนเพื่อตรวจสอบ เช่น บริษัทจะไม่รับผิดในสัญญาที่บุคคลภายนอกได้รับทราบ หรือควรจะได้รับทราบการจํากัดอํานาจ หรือความสามารถของบริษัท หรือกรรมการ”

     อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ทําให้บุคคลภายนอกเข้าทําสัญญาโดยการหลอกลวงว่า กรรมการ หรือผู้กระทําการแทนมีอํานาจกระทําได้ ไม่อาจอาศัยความคุ้มครองตามหลัก Constructive Notice โดยอ้างว่ากรรมการไม่มีอํานาจกระทําการดังกล่าว และบุคคลภายนอก ได้ทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ก่อนแล้วได้

     ในกฎหมายหุ้นส่วน - บริษัทของไทยก็มีการนําหลัก Constructive Notice มาใช้เช่นกัน
ดังปรากฎในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1021 -1023/1 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการจดทะเบียน
ห้างหุ้นส่วนจํากัด และบริษัท กล่าวคือ

     มาตรา 1021 บัญญัติว่า “นายทะเบียนทุกคนจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียน ส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นคราว ๆ ตามแบบซึ่งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงจะได้กําหนดให้”

      เมื่อมีการจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท หรือมีการแก้ไขข้อความที่จดทะเบียนในภายหลัง กฎหมายบัญญัติให้นายทะเบียนต้องแต่งย่อรายการจดทะเบียน หรือเปลี่ยนแปลงตามแบบพิมพ์
ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กําหนดไว้ไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเป็นคราวๆ ซึ่งการประกาศในราชกิจจานุเบกษามีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บุคคลทั่วไปได้รับทราบว่ามีนิติบุคคลเกิดขึ้น
มีวัตถุประสงค์กว้างหรือแคบเพียงใด อํานาจหน้าที่ของผู้จัดการมีประการใดบ้าง หรือข้อจํากัดความรับผิดใดหรือไม่

      มีข้อสังเกตประการหนึ่งว่า เมื่อคําขอจดทะเบียนถูกต้องครบถ้วนแล้วนายทะเบียนจะดําเนินการแต่งย่อรายการของห้างหุ้นส่วนนั้น เพื่อส่งไปตีพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น วันที่ห้างหุ้นส่วนซึ่งได้จดทะเบียนมีสภาพเป็นนิติบุคคลนั้น ไม่ใช่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เป็นวันที่
นายทะเบียนได้จดทะเบียนให้เป็นสําคัญ อย่างไรก็ดี การที่จะยกข้อความที่จดทะเบียนขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้หรือไม่ จะต้องไปพิจารณามาตรา
1023 กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 เดิม ก่อนที่จะมีการแก้ไขในปี พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า

     “ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เพราะเหตุที่มีสัญญา หรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาดังกล่าวแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่า นั้นได้

     แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชําระหนี้ก่อนโฆษณานั้นย่อมไม่จําต้องคืน”

     ดังนั้น ตามกฎหมายเดิม บริษัทจะยกสัญญา เอกสาร หรือข้อความที่จดทะเบียนขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ข้อความที่จดทะเบียนมีว่า
“ก. เป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด” ก่อนลงพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ห้างหุ้นส่วนจํากัดดําเนินธุรกิจผิดพลาด ก่อให้เกิดหนี้จํานวนมาก และไม่มีเงินเพียงพอชําระหนี้ กรณีนี้เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ ก.ชําระหนี้รายนี้ได้ เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดก่อนนําข้อความดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา แม้ว่า ก. จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจํากัดความรับผิด และจํานวนหนี้มากกว่าที่ ก. รับลงหุ้นไว้ก็ตาม ก. ก็จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ แต่ตามมาตรา
1023 ที่แก้ไขใหม่ กฎหมายอนุญาตให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือ บริษัท สามรถถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกได้เร็วขึ้น คือเพียงจดทะเบียนข้อความ เอกสาร หรือสัญญาต่อนายทะเบียนเท่านั้น ก็สามารยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกได้แล้ว ไม่จําต้องรอลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาอย่างเช่นกฎหมายเก่า ซึ่งในส่วนนี้จะได้กล่าวต่อไป

     มาตรา 1022 บัญญัติว่า เมื่อได้พิมพ์โฆษณาดังนั้นแล้ว ท่านให้ถือว่าบรรดาเอกสารและข้อความ ซึ่งลงทะเบียนอันได้กล่าวถึงในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงไม่เลือกว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องด้วยห้างหุ้นส่วนหรือด้วยบริษัทนั้น หรือที่ไม่เกี่ยวข้อง”

     จากบทบัญญัติทั้งสองดังกล่าวมีผลทําให้รายการต่าง ๆ ที่ลงทะเบียนไว้ เช่น ตาม มาตรา 1064(6) เรื่องข้อจํากัดอํานาจของหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือมาตรา 1078 รายการที่ต้องลงทะเบียนในห้างหุ้นส่วนจํากัด เป็นต้น เมื่อนายทะเบียนนําไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎหมายถือว่าทุกคนได้รับทราบข้อมูลเหล่านั้นแล้ว ไม่ว่าผู้นั้นจะได้เกี่ยวข้องกับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนหรือไม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ กฎหมายปิดปากมิให้ผู้ใดปฏิเสธว่า ไม่รู้ข้อความที่จดทะเบียน และได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับหลัก Constructive Notice ที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น

      เหตุที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ก็เพราะเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้ว บุคคลที่รู้ก็จะอ้างว่าตนไม่รู้ เมื่อเห็นว่าตนต้องเสียเปรียบในนิติสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการยากที่จะพิสูจน์ว่าเหตุใด
ตนจึงไม่รู้ และอาจต้องมีการสืบพยานกันจนหาที่สุดไม่ได้ ดังนั้น กฎหมายจึงกําหนดให้เป็นบทสันนิษฐานเด็ดขาดซึ่งไม่ยอมให้มีการสืบพยานหักล้างได้

     ในศาลไทยเองก็ได้มีการวางหลักนี้ไว้ในคําพิพากษาเช่นกัน โดยศาลเห็นว่าข้อสันนิษฐานตามมาตรา 1022 เป็นข้อสันนิษฐานเด็ดขาดคู่ความฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานไม่ต้องนําสืบ
ตามข้อความที่ได้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวง

     - คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928 – 1930/2528 การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัท และอํานาจของผู้แทนนิติบุคคล นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้ลงทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษา และถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามมาตรา 1021 และ 1022 จําเลย
ให้การแต่เพียงว่าโจทก์จะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และ บ. จะเป็นผู้มีอํานาจกระทาการแทนตามฟ้องหรือไม่ จําเลยไม่ทราบและไม่รับรองคําให้การของจําเลยเป็นการฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมาย จึงไม่เป็น ประเด็นที่โจทก์ต้องนาสืบ

     - คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 3369/2541 การเป็นนิติบุคคลและอํานาจของผู้แทนนิติบุคคล
นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและ
ถือเป็นอันรู้แก่บุคคลทั้งปวงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
1021 และ 1022 หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่ระบุว่า จําเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจํากัด มีจําเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
จึงเป็นเอกสารมหาชน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
127 อันนํามาใช้บังคับโดยอนุโลม
แก่คดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.
2483 มาตรา 153 ให้สันนิษฐานไว้ ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เมื่อจําเลยที่ 2 อ้างว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจํากัดจําเลยที่ 1 ย่อมเป็นหน้าที่
ของจําเลยที่
2 ที่ถูกเอกสารนั้นมายันต้องนําสืบถึงความไม่บริสุทธิ์ หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร
เมื่อพยานหลักฐานที่จําเลยที่
2 นําสืบไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจําเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จําเลยที่ 1 โดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นมีคําสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจําเลยที่ 1 เด็ดขาดแล้วโจทก์ย่อมขอให้จําเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจําเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจําพวกไม่จํากัดความรับผิดล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 โดยไม่ต้องคํานึงว่าหนี้สินของจําเลยที่ 1 เป็นหนี้สินของจําเลยที่ 2 หรือไม่ และไม่ต้องคํานึงด้วยว่ากรณีของจําเลยที่ 2 ต้องด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าจําเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เพราะเมื่อจําเลยที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้ จําเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดในหนี้สินดังกล่าวโดยไม่จํากัดจํานวน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1070 และ 1077

     หากเป็นกรณีที่ข้อความ หรือเอกสารของบริษัทยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 ที่แก้ไขในใหม่ปี พ.ศ. 2551 บัญญัติว่า

     “ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

      แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชําระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จําต้องคืน”

      ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่ อนุญาตให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทสามารถยกขึ้นอ้างซึ่งข้อความ เอกสาร หรือสัญญายันกับบุคคลภายนอกได้ตั้งแต่จดทะเบียน โดยไม่จําต้องรอจนกว่าจะมีการลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ยกตัวอย่างเช่น ก. เป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทแห่งหนึ่ง ได้ยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 และจะได้โฆษณาข้อความที่จดทะเบียนในราชกิจจานุกเบกษาในวันที่ 1 มีนาคม 2561 ต่อมาได้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อปลด ก. ออกจากตําแหน่ง พร้อมกับแต่งตั้ง ข. เป็นกรรมการแทน และได้มีการยื่นจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสําเร็จ
ในวันที่
1 กุมภาพันธ์ 2561 ปรากฎว่าในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ก. (กรรมการเดิม) ได้เข้าทําสัญญาในนามบริษัท กับ ค. ดังนี้ ค. ย่อมถูกกฎหมายสันนิษฐานว่า รู้อยู่แล้ว่าตนได้เข้าทําสัญญากับผู้ไม่มีอํานาจกระทําการแทนบริษัท เนื่องจากได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการแล้ว อีกทั้ง ยังมีผลให้บริษัทสามาถยกเอาข้อความที่ได้จดทะเบียนดังกล่าวขึ้นปฏิเสธความผูกพันตาม สัญญาที่ ก. ทําไว้กับ ค. เพราะเหตุที่ ก. ไม่ใช่กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทอีกต่อไป โดยไม่จําต้องรอให้มีการโฆษณาข้อความนั้นในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน

     หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปว่า ยังไม่มีการนํามติที่ประชุมผู้ถือหุ้นไปจดทะเบียน เปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ถ้าปรากฎว่า หลังจากนั้น ก. ได้เข้าทําสัญญานามบริษัทกับ ค. แล้ว บริษัทจะปฏิเสธสัญญา
โดยอ้างว่า ก. ไม่ใช่กรรมการไม่มีอํานาจทําสัญญาแทนบริษัทไม่ได้ เพราะข้อความที่ว่าได้เปลี่ยน ข.
เป็นกรรมการแทนนั้นยังไม่ได้มีการจดทะเบียน (บุคคลภายนอกยังไม่อาจทราบได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ)

      ในแง่ของบุคคลภายนอกนั้น มาตรา 1023 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กําหนดให้บุคคลภายนอกสามารถยกเอกสาร สัญญา หรือข้อความขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะยังไม่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ก. ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท แต่ยังไม่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงตัวกรรมการ ต่อมา ก. ได้มอบอํานาจให้ ข. ไปฟ้อง ค. ในนาม บริษัท ตามสัญญาซื้อขาย ดังนี้ ค. อาจอ้างได้ว่า ข. ไม่มีอํานาจฟ้อง เนื่องจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้มีมติเปลี่ยนแปลงกรรมการแล้ว ก. จึงไม่อาจมอบอํานาจให้ ข. ฟ้องคดีในนามบริษัทได้

      - คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4949/2536 การที่ ส. ลงลายมือชื่อร่วมกับ ช. มอบอํานาจ ให้ จ. ฟ้องจําเลย เป็นการกระทําภายหลังจาก ส. ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้มีอํานาจของ โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจํากัดแล้วจึงไม่ต้องด้วยข้อบังคับของโจทก์ตามหนังสือรับรองที่กําหนดให้กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนโจทก์ คือ ส. ช. และ จ. สองในสามคนนี้ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราของบริษัทจึงจะกระทําการผูกพันโจทก์ การกระทําของจําเลย ส.จึงเป็นการกระทําที่ปราศจากอํานาจ จ. จึงไม่มีอํานาจฟ้องคดีแทนโจทก์ การลาออกของ ส. ยังไม่มีผลตามกฎหมายเพราะยังไม่ได้มีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง แต่ความเกี่ยวพันกันในระหว่าง บริษัทโจทก์กับ ส. ผู้เป็นกรรมการนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1167 กําหนดให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยตัวแทน ฉะนั้น ส.ย่อมจะบอกเลิกการเป็นผู้แทนของโจทก์เสียในเวลาใด ๆ ก็ได้ทุกเมื่อ และย่อมมีผลทันทีเมื่อได้แสดงเจตนาแก่โจทก์ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 826,827,386 หาใช่มีผลต่อเมื่อโจทก์ได้นําไปจดทะเบียนต่อสํานักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วไม่ส่วนการบังคับให้จดทะเบียนตามมาตรา 1023 นั้น เป็นกรณีที่โจทก์จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกถึงการเปลี่ยนแปลงยังไม่ได้จนกว่าจะได้ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่จําเลยถูกฟ้องในฐานะผู้กู้ยืมเงินจากโจทก์ มิใช่ในฐานะผู้ถือหุ้นของโจทก์ จึงนับว่าเป็นบุคคลภายนอกย่อมจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้

     สําหรับความในวรรคสอง หากบุคคลภายนอกได้ชําระหนี้ตอบแทนห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท แก่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการ โดยที่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือกรรมการนั้นได้ออกจากตําแหน่งไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงพิมพ์โฆษณาข้อความดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา กรณีนี้ แม้ว่าผู้รับชําระหนี้จะไม่มีอํานาจรับชําระหนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากการที่หุ้นส่วนผู้จัดการ หรือ กรรมการได้รับชําระหนี้ไว้แทนห้างหุ้นส่วน หรือบริษัท เมื่อหนี้ตามสัญญานั้นมีอยู่จริง และ เจ้าหนี้ที่แท้จริงได้รับเงินนั้นแล้ว บุคคลภายนอกย่อมไม่อาจเรียกเงินที่ชําระไปแล้วนั้นคืนได้

     มาตรา 1023/1 บัญญัติว่า ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา 1023 ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอํานาจ กระทําการมิได้” เมื่อพิจารณามาตรา 1023 และมาตรา 1023/1 ประกอบกันแล้ว พบว่าการแก้ไข มาตรา 1023 มีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเดิม กล่าวคือ แต่เดิมนั้น แม้จะมีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียนแล้ว แต่บริษัท ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วนก็ยังมิอาจเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกดังกล่าวนั้นได้ จนกว่าจะได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นไปลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่มาตรา 1023 ที่แก้ไขใหม่นี้ ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทก็ดี สามารถถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกได้ตั้งแต่นําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นไปจดทะเบียนดังที่กล่าวมาแล้ว ในขณะที่มาตรา 1022 ให้ถือว่าบุคคลภายนอกรู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความนั้นต่อเมื่อได้ มีการลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงพออนุมานได้ว่า ในส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทสามารถเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอก ได้ 2 ขยัก กล่าวคือ นับตั้งแต่ได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียน กับหลังจากได้ลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่า หากผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทต้องการเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกนับตั้งแต่ได้มีการนําเอาสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะเบียนนั้น มาตรา 1023/1 วางหลักให้สามารถทําได้ ถ้าบุคคลภายนอกนั้นไม่สุจริต กล่าวคือ ได้รู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความนับตั้งแต่ เวลาที่มีการจดทะเบียนแล้ว การจะพิสูจน์ถึงความรู้ของบุคคลย่อมเป็นการยาก และอาจต้องอาศัยพฤติการณ์แวดล้อมเพื่อพิจารณาถึงความรู้นั้นเป็นรายกรณีไป และหากโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ หรือศาลเห็นว่าบุคคลภายนอกยังไม่ทราบถึงการจดทะเบียนนั้น ศาลก็จําต้องยกฟ้องของโจทก์ เพราะเหตุที่โจทก์ยังไม่มีอํานาจฟ้อง อันเป็นการเสียเวลา และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพิ่มขึ้นโดยไม่จําเป็น ซึ่งก็อาจเกิดปัญหาตามมาอีกว่า การที่โจทก์นําคดีมาฟ้องนั้น จะถือว่า เป็นการที่บุคคลภายนอกได้รู้ถึงการจดทะเบียนแล้วหรือไม่ เป็นต้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า มาตรา 1023 มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลภายนอกจะรับรู้ถึงการจด ทะเบียนนับตั้งแต่เมื่อใด และแม้มาตรา 1023/1 จะหวนกลับมาคุ้มครองบุคคลภายนอกผู้สุจริต ก็ตาม ในขณะเดียวกัน ผู้เขียนเห็นว่า ผู้ร่างกฎหมายได้สร้างมาตรา 1023/1 ขึ้นมาเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของตนเองที่ร่างกฎหมายมาตรา 1023 ให้ขัดแย้งกับมาตรา 1022 กล่าวคือ กฎหมายอนุญาตให้ผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบริษัทเข้าถือเอาประโยชน์จากบุคคลภายนอกที่ได้รู้ถึงการจดทะเบียน ตั้งแต่นําสัญญา เอกสาร หรือข้อความไปจดทะบียนนั้น ในขณะที่กฎหมายก็บัญญัติเช่นกันว่า บุคคลทั้งปวงได้รู้ถึงสัญญา เอกสาร หรือข้อความดังกล่าวเมื่อลงพิมพ์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัด และอาจส่งผลให้โจทก์ต้องฟ้อง บุคคลภายนอกถึง 2 ครั้ง หากโจทก์ไม่อาจสืบสมได้ตามคําฟ้องของตน

     หลัก Constructive Notice ยังมีใช้อยู่ในกฎหมายอินเดีย และไม่แตกต่างจากกฎหมายไทยเลย ภายใต้กฎหมายอินเดีย หลักการนี้ เป็นข้อสันนิษฐานว่า บุคคลภายนอกทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทสัญชาติอินเดีย จะถูกสันนิษฐานว่า รู้และเข้าใจเนื้อหา และความหมายที่เหมาะสมของเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว โดยไม่คํานึงว่าบุคคลภายนอกจะได้อ่านเอกสารมหาชนนั้นจริง ๆ หรือไม่ ตามมาตรา 610 แห่ง Companies Act 1956 วางหลักไว้ว่า หนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของบริษัท เมื่อได้จดทะเบียนไว้กับสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้ว เอกสารดังกล่าวจะกลายเป็นเอกสารมหาชน และเปิดให้บุคคลที่จะเข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท เข้าตรวจสอบอํานาจของบริษัท และขอบเขตอํานาจที่ได้รับมอบหมายของผู้มีอํานาจกระทํา การแทน ดังนั้น บุคคลทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์หรือเข้าทําธุรกรรมใด ๆ กับบริษัทสัญชาติอินเดียจะถูกปฏิบัติอย่างคนที่ได้รับทราบ หรือกฎหมายถือว่าได้ทราบข้อมูลของเอกสาร มหาชนนั้นแล้ว

      ในปัจจุบัน กฎหมายไทยยังมีความแตกต่างกับกฎหมายอินเดียเล็กน้อย เนื่องจากการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 1023 ในปี พ.ศ. 2551 ที่ให้ผู้เป็นหุ้นส่วน ห้าง หุ้นส่วน หรือบริษัท สามารถเข้าถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกได้ตั้งแต่จดทะเบียนสัญญา หรือเอกสารนั้น ในขณะที่มาตรา 1022 ให้ถือว่าทุกคนได้รับทราบข้อมูล หรือเอกสารนั้น เมื่อได้ลงพิมพ์ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก่อให้ความลักลั่นของช่วงเวลา และอาจนํามาซึ่งความสับสนต่อไปได้ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอินเดียจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หลัก Constructive Notice ก็ยังทําให้ศาลอินเดียต้องเผชิญกับปัญหา และความยุ่งยากเช่นเดียวกับที่ไทยต้องเจอด้วยเหตุที่หลักนี้ขัดแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้น นัก วิชการด้านกฎหมายของอินเดียจึงเห็นควรให้ทุกบริษัทกําหนดวัตถุประสงค์ของตนให้ชัดแจ้ง ใช้ภาษาที่ไม่คลุมเครือ และควรยกเลิกหลัก Constructive Notice แต่เพียงบางส่วน

     หลัก Constructive Notice ในกฎหมายอังกฤษได้ถูกพัฒนา และทําให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นโดยศาลอังกฤษ เพื่อคุ้มครองบริษัทต่อบุคคลภายนอกภายใต้กฎหมายอังกฤษ หลักนี้ ป็นกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัท ซึ่งประชาชนทั่วไปถูกสันนิษฐานว่า ได้รับทราบเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว

     หลัก Constructive Notice ภายใต้กฎหมายอังกฤษได้สิ้นสุดลงไปแล้วในทางกฎหมาย ตั้งแต่เมื่อประเทศกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบตลาด บริษัทเป็นที่ยอมรับโดยสมาชิกของบริษัทนั้นเอง และโลกธุรกิจและการค้า การรู้จักบริษัทผ่านทางเอกสาร และข้อมูลสาธารณะในบันทึกของสํานักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทนั้น เป็นเรื่องนามธรรม และไกลจากความเป็นจริงมาก นอกจากนี้ บริษัทจํากัดยังมีลักษณะเฉพาะเป็นของตน ยิ่งกว่าชื่อที่ระบุไว้ กรณีนี้เป็นผลมาจากมาตรา 9 ของ European Communities Act 1972 ซึ่งตอนนี้ได้รวมไว้ในมาตรา 711A ของ English Companies Act 1989

     ตามกฎหมายของประเทศแอฟริกาใต้ หลัก Constructive Notice เป็นหนึ่งในรากฐานของกฎหมายบริษัท ซึ่งถือว่าบุคคลทุกคนจะถูกพิจารณาตามกฎหมายว่าได้รับทราบเนื้อหาที่ระบุไว้ในเอกสารมหาชนของบริษัทแล้ว กล่าวคือ เป็นเอกสารที่บริษัทได้ยื่นต่อสํานักทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท ซึ่งประกอบด้วยหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับของบริษัท และมติพิเศษของที่ ประชุมผู้ถือหุ้น

     โดยหลักการแล้ว ตามกฎหมายของประเทศแอฟริกาใต้เองก็มองว่า หลัก Constructive Notice นี้เป็นปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากหลักนี้มีลักษณะเป็นเรื่องสมมติทางกฎหมาย มากกว่าที่จะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะบุคคลใดที่จะเข้ามาผูกนิติสัมพันธ์ กับบริษัทแทบจะไม่มีเวลา หรือความต้องการที่จะเรียกร้อง และกลั่นกรองเอกสารมหาชนของบริษัทนั้นเลย ดังนั้น ในมาตรา 17 ของ Close Corporations Act ของแอฟริกาใต้ จึงได้ยกเลิกหลัก Constructive Notice ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของ Close Corporation

     อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ Company Act 2008 นั้นยังไม่ถึงขั้นยกเลิกหลัก Constructive Notice ในเรื่องที่เกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ของบริษัทไปเสียทีเดียว แต่ยังคงหลักนี้ไว้ในรูปที่มีความเคร่งครัดน้อยลง กล่าวคือ Company Act 2008 กําหนดให้หนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทอาจระบุเงื่อนไขพิเศษ หรือข้อจํากัด หรือข้อกําหนดวิธีปฏิบัติซึ่งไม่สามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ เว้นแต่โดยกระบวนการพิเศษภายในบริษัทเท่านั้น หากหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทได้ระบุถึงข้อกําหนดนั้นไว้แล้ว กฎหมายกําหนดให้ชื่อของบริษัทจะลงท้ายด้วย อักษรย่อ “RF” (Ring-Fenced) และบุคคลทุกคนที่เข้าผูกนิติสัมพันธ์ของบริษัทจะถูกพิจารณาตามกฎหมายว่าได้รับทราบข้อจํากัดดังกล่าวแล้ว โดยไม่คํานึงว่าจะได้รับทราบจริง ๆ หรือไม่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเติมอักษรย่อ “RF” มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการเตือนอย่างชัดแจ้งแก่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะเข้าผูกนิติสัมพันธ์กับบริษัทว่าหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทได้ระบุข้อจํากัดบางอย่างไว้เช่น ข้อจํากัดเกี่ยวกับจํานวนเงินที่บริษัทสามารถกู้ยืมได้ หรือ ข้อจํากัดเกี่ยวกับอํานาจกระทําการแทนของกรรมการที่จะมีผลเป็นการผูกพันบริษัท หรือข้อห้าม ข้อจํากัดในการแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ บุคคลภายนอกจะถูกสันนิษฐานตามกฎหมายว่าได้รับทราบข้อจํากัด และไม่อาจกล่าวอ้างว่าถูกทําให้เข้าใจผิดว่า บริษัทมีอํานาจกู้ยืมเงินมากกว่าที่ระบุไว้ หรือกรรมการได้กระทํานอกเหนือขอบอํานาจ

     เมื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของหลัก Constructive Notice ตามกฎหมายของแอฟริกาใต้พบว่า หลักนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากหลักการในเชิงลบ ในแง่การเอื้อประโยขน์แก่บริษัท ซึ่งขัดขวางไม่ให้บุคคลภายนอกยกเอาความไม่รู้ข้อเท็จจริงขึ้นต่อสู้บริษัท ไปสู่หลักการในเชิงบวก อันอาจเป็นผลลัพธ์จากความไม่ตั้งใจของผู้ร่างกฎหมาย กล่าวคือ หลักนี้อาจคุ้มครองบุคคลภายนอกที่เข้าทําธุรกิจกับบริษัท ไม่เฉพาะแต่ตัวบริษัทเองเท่านั้น

     เมื่อพิจารณาจากฎหมายของต่างประเทศแล้ว พบว่ายังมีการใช้หลัก Constructive Notice กันอย่างแพร่หลาย แต่เป็นไปในลักษณะที่ไม่เคร่งครัดมากนัก ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่า ยังมีความจําเป็นที่จะต้องใช้หลักการนี้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างหลักเกณฑ์การรับรู้ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างไรก็ดี กฎหมายควรผ่อนคลายความเคร่งครัด และเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้ได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และถือตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1023 และ มาตรา 1023/1 นอกจากจะมีการแก้ไขให้ขัดแย้งกับหลัก Constructive Noticeในมาตรา 1022 แล้ว ยังเป็นการสร้างความไม่แน่นอนชัดเจนให้กับกฎหมายหุ้นส่วน - บริษัท ของไทยจึง สมควรได้รับการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง


                                                หนังสืออ้างอิง

ศาสตราจารย์พิเศษ โศภณ รัตนากร. คําอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย หุ้นส่วนและบริษัท. พิมพ์ครั ้งที่ 10. กรุงเทพฯ : สํานักพิมพ์นิติบรรณาการ. 2548

Doctrine of Constructive Notice and Doctrine of Indoor Management in Company Law. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.legalserviceindia.com/legal/article-136-doctrineof-constructive-notice-and-doctrine-of-indoor-management-in-company-law.html 14

Doctrine of constructive notice. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.lawteacher.net/free-law-essays/business-law/doctrine-of-constructivenotice-business-law-essay.php The Companies Act of 2008 has not completely abolished "constructive notice". [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.roodtinc.com/archive/newsletter55.asp

Jean Murray. Constructive and Actual Notice in Civil Lawsuits Differences. (2018). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.thebalancesmb.com/constructive-notice-andactual-notice-in-civil-lawsuits-398193


*บทความนี้ เราเขียนส่งอาจารย์สมัยเรียน ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยค่ะ

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ประเทศไทย : ประเทศเกษตรกรรม หรือ ประเทศอุตสาหกรรม?

 



           เชื่อว่ามีหลายคนที่ยังเชื่อตามคำสอนในสมัยเด็กกันอยู่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ ผู้เขียนเองก็เข้าใจผิดเช่นนั้นมาตลอด จนกระทั่งได้สืบค้นข้อมูล และพิจารณาจากข้อมูลสินค้าส่งออกของกระทรวงการคลังย้อนหลัง พบว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอันดับต้นๆ โดยที่ไม่มีสินค้าเกษตรติดใน 10 อันดับของสินค้าส่งออกที่สร้างมูลค่าให้แก่ประเทศเลยแม้แต่รายการเดียว หรือหากจะพิจารณาจาก GDP ในภาคเกษตรกรรม เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2503 มีสัดส่วนร้อยละ 33.41 ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรม มีสัดส่วนร้อยละ 14.47 แต่ในปี พ.ศ. 2559 สัดส่วนดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยภาคเกษตรกรรม มีสัดส่วนลดลงอยู่ที่ร้อยละ 8.9 ของ GDP ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.9 ของ GDP ดังนั้น จึงพออนุมานได้ว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่พึ่งพาเกษตรกรรมเป็นหลักแล้ว

          แรกเริ่มนั้น ประเทศไทยในปี  พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นปีที่สนธิสัญญาเบาว์ริงสิ้นสุดลง ทำให้ประเทศไทยมีอิสระทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และกฎหมายมากขึ้น ประเทศไทยจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรม โดยในช่วงแรกเป็นการผลิต เพื่อทดแทนการนำเข้า ต่อมาก็เป็นการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีมูลค่าของการผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมากกว่าผลิตผลทางการเกษตรเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งถือว่า ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้วนับแต่นั้นเป็นต้นมา

          อิทธิพลของสังคมอุตสาหกรรมจากประเทศทางตะวันตกต่อประเทศไทยนั้น ถูกถ่ายทอดผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในรูปแบบของมาตรฐานของสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก กล่าวคือ แต่เดิมประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าหัตถกรรม และแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่ายๆในลักษณะพึ่งพาตนเอง แต่หลังจากมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอุตสาหกรรมซึ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามากำหนดมาตรฐานให้กับการผลิตสินค้า ทำให้สินค้ามีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับแล้ว มาตรฐานเหล่านี้ส่งผลต่อการกำหนดกรอบแนวทางการผลิตของไทยให้ต้องมีมาตรฐานตามไปด้วย เช่น ข้าวเปลือกต้องมีปริมาณความชื้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หรือไข่ไก่ต้องมีขนาด น้ำหนักตามที่กำหนด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การผลิตให้ได้มาตรฐานนั้น จำต้องมีแรงงานที่มีความชำนาญ และมีคุณภาพด้วยเช่นกัน สำหรับประเทศไทยนั้น เรามีแรงงานจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยอื่นๆ เช่น ค่าจ้างแรงงาน พื้นฐานเศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นที่ดึงดูดต่อนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ

          อีกวัฒนธรรมหนึ่งของสังคมอุตสาหกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสังคมไทยคือ วัฒนธรรมความพร้อมเพรียงของสังคมอุตสาหกรรม ในอดีตที่ประเทศไทยยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรม วิถีชีวิตของผู้คนดำเนินไปพร้อมกับธรรมชาติ การงานต่างๆขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ หากปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือเกิดอุทกภัยขึ้น พืชผลที่สู้อุตส่าห์เฝ้าดูแลมาเป็นอันต้องเสียหาย และไม่สามารถแก้ไขสิ่งใดได้ ทำได้เพียงพยายามบรรเทาภาวะความไม่แน่นอนของธรรมชาติ โดยการเลี่ยงไปปลูกพืชผลชนิดอื่นให้เหมาะสมกับฤดูกาล ดังนั้น วิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรมจึงมีแต่ความไม่แน่นอน ด้วยเหตุนี้ เมื่อลัทธิอุตสาหกรรมตะวันตกเผยแพร่เข้าสู่ประเทศไทย หลังจากปี พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา วิถีชีวิตของผู้คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีการทำการเกษตรลดลง และเกษตรกรส่วนใหญ่ย้ายเข้าสู่ภาคการจ้างงานและอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยมีเวลาในการทำงานที่แน่นอน มีระบบระเบียบ และสร้างประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมากมาย

           นอกจากนี้ ในสังคมอุตสาหกรรม ยังมีวัฒนธรรมในลักษณะของค่านิยมที่ทำให้ผู้คนหลงใหลได้ปลื้มในความเป็นที่สุดในด้านต่างๆ รวมไปถึงความยิ่งใหญ่ในภาคธุรกิจอีกด้วย  เช่น การสร้างตึกที่สูงที่สุด การมีรถไฟที่เร็วที่สุด เป็นต้น ดังนั้น เมื่อประเทศไทยได้หันมาพัฒนาประเทศด้านอุตสาหกรรมจึงได้รับค่านิยมไปด้วย และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายบริหารของประเทศ และจากภาคส่วนธุรกิจอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ สถิติต่างๆ ที่ใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศว่า มีความเจริญเติบโตในระดับที่น่าพอใจหรือไม่ จึงถูกรัฐบาลผลักดัน และหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียง เพื่อเรียกความนิยมจากประชาชน เพราะยิ่งมีค่าเพิ่มสูงขึ้นเท่าใด ก็มีผลเท่ากับว่ารัฐบาลบริหารประเทศประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ค่านิยมเช่นนี้ ได้เผยแพร่ไปทั่วโลก ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และประเทศที่กำลังยกระดับตัวเองเป็นประเทศอุตสหากรรม ซึ่งอาจมีผลให้ปัญหาด้านลบถูกละเลยไป เช่น ปัญหาด้านมลพิษ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ เป็นต้น ดังนั้น จากวัฒนธรรมของสังคมอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากประเทศที่พึ่งพิงการเกษตรกรรมเป็นสำคัญ จนกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมนั้น จึงมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์ คือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น และในส่วนของโทษ กล่าวคือ หากประเทศไทยรับวัฒนธรรมเหล่านั้นมาเสียหมด จนลืมบริบทของสังคมไทยเอง ก็อาจเป็นการทำลายวัฒนธรรมอันดีงามของประเทศตนที่มีมาแต่เดิมได้

          นอกจากปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลอย่างวัฒนธรรมของประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆแล้ว ปัจจัยภายในเองก็มีส่วนกระตุ้นให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรม มาเป็นสังคมอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน กล่าวคือ นโยบายของรัฐบาลและส่วนราชการไทยได้ให้การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 โดยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2497 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อสร้างหลักประกัน และชักจูงให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในกิจการอุตสาหกรรมในประเทศ แต่อย่างไรก็ดี พระราชบัญญัติฉบับนี้ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะเหตุที่มีขั้นตอนการอนุมัติที่ค่อนข้างยุ่งยาก และสถานะของประเทศไทยโดยรวมในช่วงเวลานั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจในหลายๆด้าน

          การดำเนินนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมของรัฐบาลในช่วง 10 ปีแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 – 2512 นั้น เน้นกลยุทธ์การทดแทนการนำเข้าเป็นสำคัญ โดยมีการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าที่ก่อนหน้านั้นมีการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศ และต่อมาจึงได้มีการจัดทำ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ฉบับแรกขึ้น  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมอุตสาหกรรมการส่งออกมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าบางประเภทเริ่มมีการชะลอตัวลง และมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า การทดแทนการนำเข้าในภาคอุตสาหกรรมไม่ได้ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราของประเทศเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผลก่อให้เกิดการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรมใกล้กรุงเทพมหานคร หรือในเมืองสำคัญๆ เนื่องจากโรงงานมักตั้งอยู่ในแหล่งที่ใกล้ตลาด และในเขตที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อย่างไรก็ตาม แม้ภาคอุตสาหกรรมการส่งออกของไทย จะมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากตลอดระยะเวลาหลายสิบปี แต่การผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดโลก นับวันยิ่งมีการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแข่งขันในตลาดแรงงานกับประเทศต่างๆที่มีค่าจ้างแรงงานถูกกว่าของไทย เช่น เวียตนาม จีน เป็นต้น อนึ่ง แม้ภาคอุตสาหกรรมจะค่อยๆก้าวเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย จนกลายมาเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมากต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(GDP) ก็ตาม แต่ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 เศรษฐกิจโลกและประเทศไทยก็ชะลอตัวตามไปด้วย

               ประเทศไทยได้ผ่านช่วงเวลาที่มีการดำเนินนโยบายมุ่งเน้นงานด้านอุตสาหกรรมหนัก หรือที่เรียกว่า ยุคประเทศไทย 3.0 มาแล้ว เช่น การผลิตและขายส่งออกเหล็กกล้า รถยนต์ ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมน เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรกมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันกลับเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 3 – 4  ต่อปีเท่านั้น จนกระทั่ง ประเทศได้ดำเนินเข้าสู่ยุคที่อุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนน้อยแข่งขันได้ยากขึ้น เนื่องจากสภาพต้นทุนที่มีราคาสูง ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ใช้นวัตกรรมใหม่ๆมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาสู่นโยบายประเทศไทย 4.0 ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้


BOI – True Partner of the Thai Industry

               รูปภาพจาก https://www.bangkokpost.com/business/1276579/boi-%E2%80%93-true-partner-of-the-thai-industry

               นโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นวิสัยทัศน์เชิงนโยบายที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดต่อเนื่องมาจากแนวการพัฒนากระบวนการผลิตในโครงการ Industry 4.0 ของประเทศเยอรมนี โดยมีความพยายามที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นภาคบริการให้มากขึ้น จากเดิมที่เป็นประเทศรับจ้างผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ในภาคการเกษตรก็ต้องเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีหรือ Smart Farming ทั้งนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่กำลังเป็นปัญหาในสังคมไทย โดยข้อมูลจาก CS Global Wealth Report 2018 พบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำที่สุดในโลกปี 2561 และสร้างความสมดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

               เมื่อพิจารณาพัฒนาการของรูปแบบทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะถูกขับเคลื่อนโดยอาศัยโครงสร้างการผลิต และพื้นฐานในการประกอบอาชีพของคนในสังคมไทย โดยในระยะแรกเริ่มต้นจากยุคที่เน้นเกษตรกรรม ซึ่งผลิตเพื่อยังชีพ ด้วยเหตุผลทางสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศ รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศจึงมาจากเกษตรกรรมเป็นหลัก และพัฒนาต่อมาสู่ยุคของอุตสาหกรรมเบา ที่มีการนำทรัพยากรธรรมชาติ มาแปรรูปกันมากขึ้น มีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมากมาย แต่เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เช่น การทอผ้า  การทำอาหารกระป๋อง  การทำยาและการทำเครื่องเวชภัณฑ์ การทำอลูมิเนียม  การผลิตเครื่องวิทยุ เป็นต้น และต่อมาจึงเคลื่อนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนัก อันเกิดจากกระแสของโลกาภิวัฒน์ ที่มีคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่เนื่องจากคนไทยยังขาดความเป็นเจ้าของ และยึดติดอยู่กับตัวเลขส่งออก ทำให้ไม่สามารถยกระดับคุณภาพสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้นได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงยกนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุคที่ต้องใช้นวัตกรรมต่างๆมาประยุกต์ใช้ทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม เพื่อนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น ในตอนนี้ เราจึงได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรม

               อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศไทยส่วนหใญ่มักเป็นการร่วมทุนจากระหว่างภาครัฐกับเอกชน หรือเป็นบริษัทต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย เช่น บริษัทซัมซุง หรือแอลจีจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น ส่วนที่เป็นของคนไทยจริงๆ ยังมีน้อยมาก และมักเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลาง หรือขนาดย่อม หรือไม่ก็เป็นอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน เช่น บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่เป็นรายใหญ่ในด้านเกษตรอุตสาหกรรมของไทย หรือบริษัทเครือเอสซีจีที่เน้นเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกระดาษ และบรรจุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งอาจมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น เงินทุน เนื่องจากในการที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใดๆก็ตาม จะมีต้นทุนที่ราคาสูงมาก ทั้งในด้านการวิจัย เทคโนโลยีที่ใช้ เครื่องจักรทันสมัย รวมถึงบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้ามาควบคุมการทำงาน จึงทำให้เป็นเรื่องยากที่จะสร้างผลิตภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา หรือเมื่อมีการสร้างขึ้นมาได้สำเร็จแล้ว การหาตลาดเพื่อระบายสินค้า และความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะหากตัดสินใจผิดพลาด อาจมีความเสี่ยงสูงที่บริษัทจะประสบปัญหาขาดทุนได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยให้เจริญเติบโตทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลกได้ ผู้เขียนเห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วย ทั้งในด้านให้คำปรึกษา การจัดหาแหล่งเงินทุน และตลาด ดังจะเห็นตัวอย่างได้จาก แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน ที่มีแม่แบบมาจากโครงการ Industry 4.0 เช่นกัน โดยแผนยุทธศาสตร์นี้ เป็นความพยายามของจีนที่จะอาศัยเทคโนโลยีไฮเทคด้านอุตสาหกรรม มายกระดับเศรษฐกิจจีน ให้กลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้าชาติหนึ่งของโลก ทำให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรม นโยบายอุตสาหกรรมนี้จึงเป็นการท้าทายฐานะผู้นำของบริษัทในประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งแม้ว่าประเทศจีนจะถูกร้องเรียนเรื่องการให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเลย ประเทศที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การศึกษา คุณภาพแรงงาน ก็อาจไม่มีทางได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจได้เลย

               ในแง่ของประเทศไทยนั้น แม้จะได้รับสถานะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (newly industrialized country, NIC) แต่ผู้เขียนกลับมองว่า ประเทศไทยยังแค่ “รับจ้างทำอุตสาหกรรม” เพื่อให้มีตำแหน่งงานป้อนแก่คนในประเทศ ดังนั้น ในทัศนะของผู้เขียนจึงเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่อาจเรียกตัวเองว่า ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ได้เต็มปากเท่าใดนัก

 

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ / เล่มที่ ๒๐ / เรื่องที่ ๒ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศ / ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับต่างประเทศยุคอุตสาหกรรมใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=20&chap=2&page=t20-2-infodetail04.html

Thailand 4.0 คืออะไร – ไทยแลนด์ 4.0 คืออะไร. (2560). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://www.it24hrs.com/2017/thailand-4-0/

รู้จักกับ Thailand 4.0 แบบเข้าใจง่าย อ่านรอบเดียว เล่าได้เป็นช่องเป็นฉาก!!!!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :  http://thaiembdc.org/th/2016/12/29/%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-thailand-4-0-%E0%B9%81%E0%B8%9A%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%87%E0%B9%88/

ประเทศอุตสาหกรรมใหม่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%88

เหตุผล4ข้อ‘ทุนต่างชาติ’ โยกโรงงานไปเพื่อนบ้าน. (2558). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : http://www.thansettakij.com/content/4474

 

*บทความนี้เราเขียนส่งอาจารย์สมัยเรียน ถ้าผิดพลาดต้องขออภัยด้วยค่ะ

 

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

Paper Towns (เมืองกระดาษ) - John Green

 


Title : Paper Towns
Author : John Green
Genre : YA / Contemporary
Published : October 1st 2008

เรื่องย่อ : 

มาร์โก้ตัวจริง..คือใครกันแน่?

Quentin Jacobsen ใช้ทั้งชีวิตหลงรักเด็กสาวนักผจญภัยอย่าง Margo Roth Spiegelman จากที่ไกลๆ แต่เมื่อวันนึงเธอเปิดหน้าต่างและปีนเข้ามาในชีวิตเขาในชุดนินจา มาร์โก้ขอร้องให้เควนตินช่วยทำตามแผนแก้แค้นอันชาญฉลาดของเธอ และเควนตินก็ต้องยอมทำตามอย่างช่วยไม่ได้ หลังจากค่ำคืนอันยาวนานจบลง และวันใหม่มาถึง เควนตินพบว่า มาร์โก้ที่มักทำตัวลึกลับได้กลายเป็นปริศนาไปซะแล้ว แต่ไม่นานเควนตินก็ได้รู้ว่ามีร่องรอยบางอย่างถูกทิ้งไว้ และมันมีไว้เพื่อเขาเท่านั้น ยิ่งเควนตินเดินไปตามเส้นทางที่ไม่ปะติดปะต่อนั้นเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งห่างไกลจากเด็กสาวที่เขาคิดว่ารู้จักมากขึ้นเท่านั้น...

รีวิว + สปอยล์ :

เรื่องนี้เราหยิบมาอ่านเพราะหนังใกล้เข้าแล้ว กลัวตกเทรนด์ ฮ่าๆ เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเควนติน หรือ คิว เป็นเพื่อนกับมาร์โก้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย ทั้งสองคนชอบเล่นด้วยกันบ่อยๆ ในวันนึงทั้งคู่ได้พบกับผู้ชายใกล้ตายคนนึงที่สวนสาธารณะ มาร์โก้ที่ชอบเรื่องผจญภัยจึงไปตามหาสาเหตุ แล้วก็ชอบมานั่งเล่าให้คิวฟังริมหน้าต่าง...

แต่เมื่อคิวและมาร์โก้เข้าไฮสคูล ต่อหน้าคนอื่นๆที่โรงเรียน ทั้งคู่กลับทำตัวเหมือนไม่ใช่เพื่อนกัน คิวมักแอบบมองมาร์โก้กับแฟน และแอบหมั่นไส้อยู่ในใจ แต่อยู่ดีๆคืนนึงมาร์โก้ก็ปีนขึ้นมาที่หน้าต่างห้องเขา และขอให้คิวช่วยแก้แค้น และทำตามมิชชั่น 11 อย่าง มาร์โก้และคิวจัดการแก้แค้นเจส -- แฟนของมาร์โก้ ที่แอบบนอกใจไปมีอะไรกับเบคก้า -- เพื่อนในแก๊งเดียวกันกับมาร์โก้ แล้วก็พากันเข้าไปในตึกสูงแห่งนึงเพื่อดูวิวเมือง Orlando ตอนกลางคืน มาร์โก้บอกคิวว่า เมืองๆนี้คือ Paper Town จากที่ตรงนี้ เรามองไม่เห็นสีของบ้านที่หลุดร่อน แต่เราก็ยังบอกได้ว่านั่นเป็นบ้านของใคร นั่นแหละที่มาร์โก้คิดว่ามันหลอกลวง และเธอทีเป็น Paper girl ก็ไม่อาจทนอยู่ใน Paper town ที่เต็มไปด้วยมนุษย์กระดาษเหล่านั้นได้อีกต่อไป...

วันรุ่งขึ้น คิวคิดว่าจะได้พบมาร์โก้ที่โรงเรียน และย้ายมานั่งกินข้าวกลางวันด้วยกันที่โต๊ะของเขา แต่ทั้งวันมาร์โก้ก็ไม่โผล่มา ผ่านไปหลายวันเขาถึงได้รู้ว่ามาร์โก้หนีออกจากบ้านเป็นครั้งที่ 3 แต่พ่อแม่ของมาร์โก้เบื่อที่จะตามหาอีกต่อไป เพราะพวกเขาคิดว่าเธอก็แค่อยากเรียกร้องความสนใจ แล้วก็ไม่มีใครอยากจะมานั่งปวดหัวก็ร่องรอยที่มาร์โก้ทิ้งไว้ให้อีกด้วย

แต่คิวกลับพบว่าที่ห้องของมาร์โก้มีโปสเตอร์ที่เขาไม่เคยเห็นแปะอยู่ มิหนำซ้ำยังจงใจหันมาที่ห้องเขาราวกับตั้งใจ คิวคิดว่านี่คงเป็นร่องรอยที่มาร์โก้ทิ้งไว้ให้เขาโดยเฉพาะ คิวเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนสนิทอีกสองคนฟัง พวกเขาจึงพากันไปค้นหาร่องรอยอย่างอื่นในห้องมาร์โก้ คิวพบหนังสือกลอนเล่มนึงที่พาเขาไปยังห้างร้างแห่งหนึ่ง ที่นั่นเขาพบกับข้อความนึงที่มาร์โก้ทิ้งไว้ให้...

"You will go to the paper towns and never come back.."

จากข้อความนั้น คิวคิดว่ามาร์โก้อาจจะคิดฆ่าตัวตาย หรืออาจจะตายแล้ว แต่อยากให้เขาเป็นคนพบศพ ไม่ว่าจะอย่างไหนก็ทำให้เขาร้อนรนอยากจะหามาร์โก้ให้เจอเร็วๆ หลังจากค้นหาอยู่หลายครั้ง คิวเจอรอยหมุดบนผนังอยู่หลายจุด เขาคิดว่าน่าจะเป็นรอยหมุดที่เกิดจากการเอาเอาเข็มหมุดปักไว้บนแผนที่ แล้วคิวก็เจอแผนที่เก่าๆซ่อนอยู่แถวนั้นจริงๆ 

เพื่อนของคิวคิดว่า ถ้าดุจากแผนที่แล้ว มาร์โก้น่าจะแค่อยากสนุกกับโรดทริปตามเส้นทางนั้นมากกว่า แล้วเดี๋ยวก็คงจะกลับมาเองในวันพิธีจบการศึกษา แต่คิวไม่คิดอย่างนั้น เพราะนั่นไม่เหมือนกับมาร์โก้ที่เขารู้จัก คิวลองเอาคำว่า Paper Towns เสริ์ชในอินเตอร์เน็ท แล้วพบกระทู้นึงที่ให้ความหมายของ Paper Towns ไว้ 

 Paper Town เป็นเมืองที่มาร์คไว้บนแผนที่ แต่ไม่มีอยู่จริง ซึ่งผู้สร้างแผนที่ทำไว้เพื่อหลอกคนที่จะมาลอกเลียนแบบ เพราะถ้าหากมีเมืองๆนี้อยู่บนแผนที่ของบริษัทอื่น นั่นก็หมายความว่าแผนที่ของเขาโดนละเมิดลิขสิทธิ์ คิวอ่านกระทู้ไปเรื่อยๆจนพบว่า Paper Towns เมืองนี้ชื่อว่า Algoe ตั้งอยู่ใกล้ๆนิวยอร์ค และเมื่อเทียบกับรอยหมุดบนแผนที่เก่าที่พบในห้างร้างก็ตรงกันจริงๆ และยิ่งเป็นการตอกย้ำความมั่นใจของคิว เขาเจอคอมเม้นท์นึงในเพจเกี่ยวกับเมือง Algoe ที่ใช้ตัวพิมพ์เล็กกับพิมพ์ใหญ่สลับกันมั่วไปหมดซึ่งนั่นเป็นสไตล์การเขียนของมาร์โก้

"ถึงใครก็ตามที่อีดิทเพจนี้ ประชากรของ Algoe จะมีหนึ่งคน จนถึงบ่ายวันที่ 29 พฤษภา.."

คิวมีเวลาแค่หนึ่งวันก่อนที่มาร์โก้จะไปจาก Algoe กับระยะทางอีกพันกว่าไมล์ เขาตัดสินใจไม่เข้าร่วมพิธีจบการศึกษา แต่ก่อนจะออกเดินทางเขาต้องเอาเบียร์ไปให้เพื่อนที่โรงเรียนก่อน แต่ไปๆมาๆก็ดันโดดพิธีจบการศึกษากันทั้งแก๊งค์ - - และแล้วโรดทริปเพื่อตามหามาร์โก้ก้เริ่มต้นขึ้น...

ระหว่างเดินทาง คิวคิดจริงๆว่า ถึงแม้ปลายทางเขาจะไม่พบมาร์โก้ แต่การได้เดินทางร่วมกับเพื่อนๆครั้งนี้ก็เป็นความทรงจำที่ดีเหลือเกิน...

เมื่อไปถึง Algoe คิวเจอรถของมาร์โก้จอดอยู่หลังโรงนา พวกเขารีบเข้าไปหาตัวมาร์โก้ และพบเธอกำลังนั่งเขียนหนังสืออยู่อย่างสบายใจ แต่พอพวกเขาแสดงตัว แทนที่จะวิ่งเข้ามาหาด้วยความดีใจ เธอกลับโมโหใส่คิวและเพื่อน เพราะมาร์โก้ไม่ด้อยากให้ใครมาตามหา คิวนั่นแหละที่คิดไปเอง...

หลังจากสงบสติอารมณ์ได้แล้ว มาร์โก้จึงยอมขอโทษ และเล่าความจริงทั้งหมด ที่จริงเธอวางแผนหนีออกจากบ้านไว้ตั้งนานแล้ว ในตอนแรกคิดว่าจะไปหลังงานพิธีจบการศึกษา แต่เธอก็ไม่อาจทนอยู่เมืองนั้นได้อีกต่อไป แล้วยิ่งมีเรื่องแฟนนอกใจด้วย เธอเลยเลื่อนให้เร็วขึ้น

ที่โรงเรียน คนอื่นๆมักมองว่ามาร์โก้เจ๋งกว่าใคร  แล้วเธอเองก็อยากให้คนอื่นชอบ เธอจึงยิ่งทำตัวอย่างที่คนอื่นอยากเห็น ทั้งที่ตัวตนที่แท้จริงของเธอไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะงั้น ตัวเธอเองก็คือ Paper girl และมาที่โรงนาแห่งนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าเมืองกระดาษ (Algoe) นั้นมีอยู่จริงๆ เพื่อที่ตัวเธอเองก็จะได้เป็นมาร์โก้ที่แท้จริงเช่นกัน...

ส่วนที่มาร์โก้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ ก็เพราะว่าหลายปีที่ผ่านมามาร์โก้คิดมาตลอดว่า คิวเองก็เป็น Paper boy แต่ในคืนที่ไปทำภารกิจแก้แค้นด้วยกัน จากคิวขี้ป๊อด ก็กลายเป็นฮีโร่ของมาร์โก้ เป็นคิวที่แท้จริง เธอจึงล่อคิวมาห้างร้างน่ากลัวๆ เพื่อไม่ให้คิวกลับไปเป็น Paper boy อีกต่อไป

มาร์โก้ชวนคิวเดินทางไปด้วยกัน แต่เขาปฏิเสธเพราะชีวิตของเขาอยู่ที่ Orlando ส่วนมาร์โก้เองก็ยังไม่พร้อมที่จะกลับไป พวกเขาสองคนจึงต้องแยกกันตรงนั้นเพื่อไปตามเส้นทางของตัวเอง โดยมีคำสัญญาว่าจะกลับมาเจอกันอีก

คิวยืนมองมาร์โก้เดินไปขึ้นรถ แต่ทว่า..อยู่ดีๆเธอก็หันกลับมา แล้ววิ่งเข้ามาสวมกอดเขา และคิวก็สามารถมองเธอได้เกือบชัดเจนในความมืดที่โรยตัวลงมา...



**จบแล้วนะจ๊ะ ถ้าผิดพลาดประการใด ต้องขออภัยด้วยจ้า สงสัยยาวไปหน่อยด้วย ปาดเหงื่อ**



การเล่าเรื่อง : เล่าในมุมมองของคิวคนเดียว
ภาษา : ศัพท์กลาง - ยาก แต่ไม่เปิดดิกก็เข้าใจนะ แต่ที่มันยากคือ ศัพท์ง่าย แต่อ่านไม่เข้าใจนี่แหละ - -* คือแบบ ต้องอ่านแล้วหยุดจิตนาการตามคำพูดของจอห์น กรีน ถ้าใครเคยอ่าน TFIOS จะรู้ว่าสไตล์จอห์น กรีน มันต้องใช้จินตนาการในการเข้าใจ 55
ความรู้สึกหลังอ่าน : ถึงจะมีบางส่วนที่ไม่เข้าใจ แต่ก็สนุกนะ เราค่อนข้างชอบเลยล่ะ เราว่าความรู้สึกเหมือนอ่าน The Perks of Being a Wallflower เลย แต่มีตอนฮาเยอะกว่า โดยเฉพาะพวกเพื่อนพระเอกนี่แหละ จะฮาไปไหน อ่านแล้วก็รู้สึกเสียดายที่ช่วงวัยรุ่น ตอนม.ปลาย วันๆเอาแต่เรียน ไม่ได้ทำไรเจ๋งๆแบบในหนังสือ จะมาทำตอนนี้ก็ไม่ไหวละ - - เฮ่อออ เราว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆเลยนะ มีอะไรให้คิดเยอะดี ควรค่าแก่การหามาอ่านจ้า Smiley
คะแนน : 5/5 เราชอบเรื่องนี้มากกว่า TFIOS นะ เอาใจไปเลยเต็ม ๆ คิคิคิคิ

Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe (ห้วงรักจักรวาลใจ) by Benjamin Alire Sáenz

 


Title : Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe
Author : Benjamin Alire Sáenz
Genre : YA / Contemporary / GLBT
Published : February 21st 2012 

Synopsis :
อริสโตเติลเป็นวัยรุ่นขี้โมโห เขามีพี่ชายถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำเพราะก่อคดีร้ายแรงขึ้น ส่วนดันเต้ก็เป็นพวกรู้ไปหมดซะทุกเรื่อง แถมยังมองโลกใบนี้ในมุมมองที่แปลกประหลาดกว่าคนทั่วไปเสียอีก ในช่วงหน้าร้อน ทั้งสองคนได้มาเจอกันที่สระว่ายน้ำแห่งหนึ่ง ในตอนแรก..ดูเหมือนว่าพวกเขาแทบจะไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย แต่เมื่อคนเหงาได้มาใช้เวลาร่วมกัน ส่งต่อสิ่งพิเศษที่เรียกว่า..มิตรภาพ สิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคนทั้งคู่และจะยังคงอยู่ตลอดไป อริและดันเต้ได้เรียนรู้ความจริงที่แสนสำคัญเกี่ยวกับตัวเอง และเส้นทางแบบไหนที่พวกเขาอยากจะไป...

Review + Spoil
อริเป็นเด็กชายวัย 15 ปี กำลังอยู่ในช่วงสับสนเพราะร่างกายมีความเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยรุ่นหลายอย่าง เขาไม่มีเพื่อนเลยสักคนเพราะไม่ชอบนิสัยป่าเถื่อน หยาบคายของพวกเด็กผู้้ชาย อริชอบไปเที่ยวที่สระว่ายน้ำอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ว่าตัวเองจะว่ายน้ำไม่เป็นก็ตาม แต่ในวันที่แสนจะน่าเบื่อวันหนึ่ง เขาได้พบกับดันเต้ เด็กผู้ชายผิวขาว ที่ไม่เหมือนคนแม็กซิกันอย่างเขาเลยสักนิด อยู่ๆเด็กนี่ก็เข้ามาเสนอตัวว่าจะช่วยสอนอริว่ายน้ำ แล้วมิตรภาพของทั้งสองคนก็เริ่มต้นขึ้น...

อริเติบโตในครอบครัวที่ไม่ค่อยพูดคุยกันมากนัก ซึ่งนั่นทำให้เขามักเก็บซ่อนความรู้สึกต่างๆเอาไว้ในใจเสมอ จนหลายต่อหลายครั้ง มันก็กลับกลายมาเป็นฝันร้ายทำร้ายตัวเขาเอง อริมีเพียงดันเต้ที่คอยช่วยให้เขารู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ด้วย เขารู้สึกจริงๆว่าชอบเพื่อนคนนี้มากมายเหลือเกิน...

ในบ่ายวันหนึ่งหลังพายุฝนผ่านไป อริกับดันเต้ออกไปดินเล่นด้วยกัน ดันเต้บังเอิญเห็นนกปีกหักร่วงอยู่กลางถนน เขาจึงตรงเข้าไปประคองไว้ในมือ แต่แล้วจู่ๆก็มีรถคนหนึ่งวิ่งไถลไปมาตามถนนที่ชื้นฝน และพุ่งตรงมาที่ดันเต้ อริทำอะไรไม่ถูก ในหัวของเขามีแต่ฝันร้ายที่ตามหลอกหลอน และตัวเองก็ได้แต่ตะโกนชื่อดันเต้ไม่หยุด...

อริตื่นขึ้นมาในโรงพยาบาล เขาพบว่าตัวเองแขนหัก ขาตั้งแต่ช่วงเข่าลงไปกระดูกหักหมดต้องเข้าเฝือกไว้ นอกจากร่างกายที่เจ็บหนัก อริรับรู้ได้ว่ามีความรู้สึกบางอย่างกำลังเติบโตขึ้น และเขาเองก็ไม่อยากจะยอมรับมันด้วย หลังจากเหตุการณ์นั้น อริก็กลายเป็นพวกขี้โมโห ความคิดขัดแย้งกันไปมาอยู่ในหัว ทั้งที่อยากเจอดันเต้ แต่อีกใจก็อยากจะอยู่ห่างๆ พอดันเต้มาคอยดูแลใกล้ชิด เขากลับรู้สึกโมโหจนอยากจะต่อยให้คว่ำ แม้กระทั่งดันเต้ต้องย้ายไปชิคาโก อริก็ยังสับสนว่าเมื่อดันเต้กลับมาแล้ว ทุกอย่างจะยังเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า

ดันเต้เขียนจดมหมายถึงอริไม่ขาด เขามักเล่าเรื่องชีวิตในชิคาโกให้อริฟังว่า เขาเริ่มชอบที่นั่น และตอนนี้ก็มีเพื่อนเยอะแยะแล้วด้วย เขายังเล่าถึงเรื่องจูบแรก เหล้าเบียร์ ปาร์ตี้ สูบกัญชา แม้กระทั่งเรื่องช่วยตัวเองครั้งแรก - -* อริแทบจะไม่ได้ตอบจดหมายดันเต้เลย ถึงตอบก็เพียงแค่ข้อความสั้นๆเท่านั้น แต่ดันเต้ก็ยังยืนยันว่าจะเขียนส่งมาเสมอ 

มีจดหมายอยู่ฉบับหนึ่งที่ดันเต้สารภาพกับอริว่า เขาชอบผู้ชาย และไม่รู้ว่าจะบอกเรื่องนี้กับพ่อแม่ยังไงดี

1 ปีผ่านไป ดันเต้ย้ายกลับมา แต่ทั้งสองคนก็แทบจะไม่ได้เที่ยวเล่นกันเหมือนเก่า เพราะอริเองก็พยายามหลบหน้าด้วยการเอางานพิเศษเป็นข้ออ้าง แต่แล้ววันหนึ่ง ในขณะที่นั่งเล่นด้วยกันในห้อง จู่ๆดันเต้ก็ขออริจูบเพราะอยากพิสูจน์อะไรบางอย่าง อริไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงยอมตามที่ดันเต้สั่ง แต่พอรู้ตัวอีกทีเขาก็ผลักดันเต้ออก แล้วย้ำอีกครั้งว่า ไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนั้นจริงๆ(ไม่ได้ชอบผู้ชาย)

ทั้งอริและดันเต้ยิ่งเข้าหน้ากันไม่ติด ดันเต้หันไปคบกับเดเนียล เพื่อนที่ทำงานพิเศษที่เดียวกัน แต่พอปรับความเข้าใจกันได้ อริก็ต้องรีบเดินทางไปหาป้าที่เมืองอื่น และเขาได้รู้ว่า ป้าของตัวเองเป็นเลสเบี้ยน แต่พ่อกับแม่ก็ไม่ได้รู้สึกรังเกียจป้าเลยสักนิด เพราะว่าป้าของเขาเป็นคนดี อริกลับมาสับสนอีกครั้งกับความจริงข้อนี้...

หลังกลับจากงานศพป้า อริเดินไปบ้านดันเต้เพื่อรับหมาที่ฝากไว้ แต่เขาก็ได้ทราบข่าวร้ายจากพ่อดันเต้ว่า ตอนนี้ลูกชายนอนอยู่โรงพยบาลเพราะถูกซ้อม คนเห็นเหตุการณ์เป็นยายแก่ๆ เธอบอกว่าเห็นดันเต้กำลังยืนจูบอยู่กับเดเนียล แล้วสักพักก็มีกลุ่มวัยรุ่นผ่านมา แล้วรุมซ้อมดันเต้ โดยที่เดเนียลวิ่งหนีไปคนเดียว อริจำใจต้องสารภาพว่า เขารู้อยู่แล้วเรื่องที่ดันเต้ชอบผู้ชาย และดันเต้เองก็หวังว่า 'น้องชายที่กำลังจะเกิดมาต้องชอบผู้หญิง และพวกเขาก็จะมีหลานตัวน้อยๆ พ่อกับแม่จะได้มีความสุข'

อริไปเยี่ยมดันเต้ที่โรงพยาบาล สภาพยับเยินของดันเต้ทำให้เขาโกรธจนควบคุมตัวเองไม่อยู่ เขาออกไปตามหาแก๊งค์วัยรุ่นกลุ่มนั้นแล้วจัดการแก้แค้นให้ดันเต้ ถ้าไม่มีคนมาห้ามไว้ เขาอาจจะฆ่าเด็กพวกนั้นตายคามือไปแล้วก็ได้

อริถูกส่งกลับบ้าน เขาโชคดีที่อีกฝ่ายไม่แจ้งตำรวจ แต่ตัวเองก็ต้องถูกพ่อตำหนิเสียยกใหญ่ หลังจากนั้นเขาก็ไปเยี่ยมดันเต้ทุกวัน พวกเขาดูเหมือนจะไม่มีอะไรคุยกันมากนัก ส่วนใหญ่เลยได้แต่นั่งอ่านหนังสือกลอนของดันเต้ แต่อยู่ๆวันนึงดันเต้ก็สารภาพกับอริว่า ตอนที่เขาจูบกับเดเนียล ในหัวเขาคิดตลอดว่ากำลังจูบอริอยู่ อริที่มักหวั่นๆกับความลับของดันเต้เลยตอบกลับไปว่า 'ถ้างั้นนายก็ควรจะไปหาหัวใหม่ซะนะ..ดันเต้'

อริอารมณ์เสียที่เดเนียลมาเยี่ยมดันเต้ถึงบ้าน เขาเกลียดเดเนียลเพราะหมอนั่นทิ้งดันเต้แล้วหนีเอาตัวรอดคนเดียว เขาได้แต่ย้ำกับตัวเองและคนอื่นแบบนั้น...

พ่อแม่ของอริรู้สึกได้ว่าลูกชายทำตัวแปลกไปเลยเรียกมาคุยเปิดอก แม่ของเขาบอกว่า ยิ่งอริพยายามเก็บซ่อนความรู้สึกไว้แบบนี้ สักวันมันจะต้องฆ่าเขาแน่ๆ ทุกคนต่างดูออกว่าดันเต้น่ะ..รักอริ เพราะว่าดันเต้ไม่เคยคิดจะปิดบังความรู้สึกนี้เลย แล้วปัญหามันไม่ได้อยู่ที่ว่าตอนนี้ดันเต้จะเดทกับเดเนียลรึเปล่า แต่มันอยู่ที่ตัวอริเอง ที่ไม่ยอมรับว่าเขาเองก็รักดันเต้เช่นกัน

อริอยากจะปฏิเสธ แต่เขาก็ต้องยอมรับความจริงว่า การที่เขาวิ่งเข้าไปช่วยดันเต้จากรถเสียหลักโดยไม่ห่วงชีวิตตัวเอง และการที่เขาไปแก้แค้นพวกเด็กวัยรุ่นที่รุมซ้อมดันเต้นั้น เป็นเพราะว่าอริรักดันเต้มาก จนไม่อยากจะเสียดันเต้ไป...

อริขับรถพาดันเต้ไปกลางทะเลทราย สถานที่ที่เขาชอบหลบมานอนดูดาวคนเดียวเวลามีเรื่องไม่สบายใจ วันนี้ดันเต้ดูหงุดหงิดจนอริกลัว ดันเต้บอกว่า เขาไม่สามารถทนทำตัวเป็นเพื่อนได้อีกแล้ว และเขาก็ยิ่งโมโหมากขึ้นที่อริพูดถึงเรื่องจูบวันนั้น ดันเต้ไม่เคยลืมว่าถูกอริปฏิเสธ และเขาก็ไม่อยากนึกถึงมันอีก

อริยอมรับว่า เขาโกหก เพราะที่จริงแล้วเขาก็รู้สึกไม่ต่างจากดันเต้ และนั่นคือความลับของจักรวาลที่อริพยายามค้นหา ความลับของร่างกายนี้ ความลับของหัวใจดวงนี้ คำตอบของทั้งหมดอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่เขากลับไม่รู้ตัวเลย อริหวนนึกถึงคำพูดของแม่ที่ถามเขาว่า 'ลูกอายที่รักดันเต้เหรอ?'
อริเอื้อมไปจับมือดันเต้และกุมมือนั้นไว้

เขาจะอายที่รักดันเต้ ควินตาน่าคนนี้ได้ยังไงกันล่ะ...

---จบปิ้ง---

การเล่าเรื่อง : เล่าในมุมมองอริคนเดียว บทบรรยายไม่ค่อยเยอะ ส่วนใหญ่ป็นบทพูดมากกว่า

ภาษา : ศัพท์ง่ายมาก อ่านแปบเดียวจบ แล้วภาษาก็สวยดีด้วย ไม่แปลกที่จะได้รางวัลเยอะเเยะมากมาย

ความรู้สึกหลังอ่าน : หูยยยย กว่าจะหาซื้อเรื่องนี้ได้ เหนื่อยมาก ไปที่คิโนะกี่ทีไม่เคยเจอเบย - -* มาเข้าเรื่องดีกว่า เรื่องนี้ในgoodreads ได้คะแนนสูงมาก ที่จริงพล็อตมันก็ไม่ได้แปลกพิสดารอะไร ออกจะธรรมดาด้วยซ้ำ แต่เราชอบที่โทนของเรื่องมันเป็นสีขาว ไม่เหมือนนิยายวายบ้านเราที่หม่นๆถึงดำปี๋ - -* สังเกตมาหลายเรื่องละ พวกนิยายเกย์วัยรุ่นบ้านเค้า ธีมส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการค้นหาและยอมรับตัวเอง พล็อตไม่ได้เอ็นซีกระจายเหมือนบ้านเรา (แต่ถ้าไปดูหมวด erotic หรือ bdsm อันนั้นเราว่าบ้านเราเทียบไม่ติด 555) เนื้อเรื่องใสๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่าน The perks of being a wallflowerเลย(อันนี้ไม่ค่อยใสเท่าไหร่ - -*) เราว่าเป็นหนังสือที่ดีเล่มนึง ถ้ามีโอกาสก็ควรหามาอ่านกันจ้า
คะแนน : 10+/5 (เป็นความชอบส่วนตัว เราไม่หวงคะแนนอยู่เเร้นนน)